วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ป่าแม่แฮด ก็เป็นประเด็น




ตาล้วน กับ หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ฯ


เรื่องมันเกิดตั้งแต่ปี 2535 สมัยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ชื่อ นายจินต์ วิภาตะกลัศ (ซึ่งน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว) ข้าพเจ้าได้รับฟังเรื่องนี้จากตาล้วน ทองประไพ เมื่อปี 2550 เพิ่งเจอเอกสารวันนี้ ก็เลยต้องเขียนบันทึกไว้


ตาล้วนมีที่อยู่ในดอย หักล้างถางพงมาได้หลายสิบปีก่อน วันดีคืนดี ก็มีหน่วยงานภาครัฐมาชวนเข้าโครงการปลูกต้นไม้ ได้ค่าปลูกต้นไม้ไร่ละ 3,000 บาท บอกว่าจะได้ใบ (ซึ่งตาล้วนเข้าใจว่าเป็นโฉนด) ต้นไม้ที่ปลูกนั้นจะขายก็ได้ ตีตราโป้งก็ขายได้ถึงกรุงเทพฯ


พอได้ใบมาแล้ว มีครุฑแดงเสียด้วย แต่ ไม่ใช่โฉนดกลายเป็น “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แฮด” มีอายุถึงแค่ วันที่ 23 มกราคม 2540 จากวันอนุญาต 24 มกราคม 2535 นับได้ 5 ปีเต็ม ไม่ขาดไม่เกิน

ทำไมไม่ต่ออายุ ต้นสัก อายุ 5 ปี จะขายได้กี่บาท ถึงวันนี้กลายเป็นที่ป่าสงวน ห้ามเข้าอีกต่างหาก


เพื่อนร่วมชะตากรรรมกับตาล้วนมีอีกนับสิบครอบครัว บางคนก็คงตามไปต่อว่าอดีตผู้ว่าฯ แล้ว


ทางราชการทำอะไรกับประชาชน? หากินกับความไม่รู้ของชาวบ้าน? เวรกรรมตามทันไปแล้ว 1 รายละหนอ พวกที่เหลือก็ไม่ต้องรอนาน

ผังเมืองช่อแฮ ชาวบ้านขอร่วมแก้ไข



ผังเมืองนี้มีปัญหา ต้องรวมปัญญาช่วยกันแก้


ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลช่อแฮ เกริ่นที่มาของคำว่าบ้านใน บ้านนอก ถ้าไม่บอกคงไม่เข้าใจ เหตุที่เรียกชื่อว่า “บ้านใน” เพราะเป็นบ้านที่อยู่ในข่วง 3 เส้าของ 3 พระธาตุ คือ ดอยเล็ง จอมแจ้ง และช่อแฮ นอก 3 เส้า ก็เป็นบ้านนอกไป อันนี้เป็นหลักฐานว่าหมู่บ้านนี้มีมานานแล้ว ส่วนหลักฐานทางการของชาวบ้านเป็น ส.ค. 1 ซึ่งออกตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ก่อนการประกาศเขตป่าสงวน ในปี พ.ศ. 2507


ชาวบ้านและแกนนำหมู่บ้าน สงสัยว่า การออกกฏผังเมืองเป็นประโยชน์ต่อเขาหรือไม่ และ กระบวนการประชุม 17 ครั้งก่อนนั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่


วันประชุมครั้งนี้ก็ยังสงสัยว่าจะทำอะไรได้ เพราะหนังสือลงนามโดยอธิบดีกรมโยธาฯ ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 แต่ให้ออกความเห็นถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 คนในที่ประชุมวันนี้เห็นหนังสือวันนี้ 27 ธันวาคม 2554 ผ่านเส้นตายมาแล้วถึง 22 วัน


ถึงกระนั้นมติในที่ประชุมได้เห็นพ้องกันว่า ขอค้านการประกาศผังเมืองนี้ ไม่เห็นด้วยกับผังเมืองตำบลช่อแฮ


เพราะริดรอนสิทธิเสรีภาพในภายหน้าเรื่องการอยู่ การทำมาหากิน การซื้อขายการลงทุนในที่ดิน และเห็นว่าการออกแบบผังเมืองไม่ได้คำนึงถึงสภาพแท้จริงของปัจจุบัน รวมถึงการออกแบบถนนให้กว้างเกินความจำเป็น


ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเข้าไปชักชวนสมาชิกสภาเทศบาลช่อแฮที่กำลังประชุมสภาฯ ในวันนี้เช่นกัน คณะทำงานจะปรึกษาหารือกันนอกรอบ มีการวางแผนใช้สื่อสารมวลชนให้เป็นประโยชน์ ก่อนที่จะประกาศใช้ในวันที่ 20 มกราคม 2555


จะมีตำบลไหนทำแบบนี้บ้าง สภาองค์กรชุมชนตำบลช่อแฮ ขับเคลื่อนเรื่องสาธารณะที่เป็นผลกระทบได้อย่างน่าชมเชย รวมทั้งครั้งก่อนที่ว่าด้วยเรื่องอ่างแม่สาย

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เพลงเมืองแป้บ้านเฮา


บทความนี้เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ไม่เป็น กลาง และเต็มไปด้วยความชื่นชมส่วนตัว *** ตั้งแต่ได้รู้จักกับน้อง ๆ วงกาสะลอง ที่มาร่วมแสดงในงานแอ่วกาดกองเก่า ที่ถนนคำลือ เมื่อปลายปีที่แล้วสิ่งหนึ่งที่ประทับใจต่อวงดนตรีนี้คือการที่ทุกคนมีน้ำใจ และอยากเห็นสิ่งดีดีเกิดขึ้นในบ้านเกิดอันเป็นที่รัก น้องๆเล่าให้ฟังว่าได้เห็นสิ่งดีจากเชียงใหม่ที่มีวงดนตรีไม้เมือง เล่นในกาดถนนงัวลาย พอมาเห็นว่าที่เมืองแพร่อยากจะจัดตลาดนัดพื้นเมือง ทีมวงกาสะลองไม่รอช้า ไม่ต้องไปเชิญ แค่เห็นใบปลิวก็แทบจะรีบปลิวมาร่วมและยังใจดีเอาผลงานมาแจกฟรีๆให้ พ่อ แม่ พี่น้องในกาดกองเก่าได้ติดมือกลับบ้านไปด้วย แค่นี้ก็น่าปลื้มแล้ว และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมก็ได้ฟังผลงานเต็มอัลบั้มของกาสะลอง ชื่อชุดว่า “เมืองแป้ บ้านเฮา” แนวดนตรีเป็นโฟล์คป็อปคำเมืองผสมสะล้อ ซอ ซึง และดนตรีพื้นเมืองอีกหลายชิ้นถือเป็นนวัตกรรมทางดนตรีพื้นเมืองที่น่าสนใจ ผมจะลองเล่าเนื้อหาให้อ่านกันนะครับ



เริ่มจากเพลงแรก เป็นเพลง เมืองแป้บ้านเฮา ดนตรีฟังสบายๆรื่นหู พร้อมด้วยเสียงสะล้อหยอกล้อ คลอไปตลอดเพลงไปกับเสียงร้องของน้องวิว จุฑาทิพท์ ฝั้นแบน ที่ถือว่าเป็นจุดขายหลักด้วยน้ำเสียงที่ออกแนวลูกทุ่งนิดนิด เนื้อเพลงเป็นเหมือนหนังสือหน้าแรกที่แนะนำสถานที่ ลักษณะทางกายภาพคร่าวๆของเมืองแพร่ มีรายชื่ออำเภอต่างๆทั้งแปดถ้าให้เด็กๆหัดร้องคงจะดีไม่น้อยจะได้จำได้ว่า เมืองแพร่มีอำเภออะไรบ้าง เพลงนี้น่าจะฟังติดหูไม่ยาก คะแนน8/10

เพลงที่สองเป็นบัลลาด เล่าเรื่อง พระลอและพระเพื่อนพระแพง วรรณกรรมอมตะชิ้นหนึ่งของชาติ ยังคงเป็นเสียงร้องของน้องวิว เสียงสะล้อยังคงร่วมสร้างไปพร้อมๆกับเสียงซึงและกลองจังหวะเนิบช้าคล้ายๆ กลองอืด ชวนสลดใจไปกับโศกนาฏกรรมที่ทั้งสามได้พบ เนื้อร้องยังไม่ได้เล่าเรื่องราวต่างๆอย่างที่ควรจะเป็น เพียงเป็นเรื่องราวสรุป โดยอาจจะทำให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินอาจจะงง หรือต้องตามไปอ่านวรรณกรรมเป็นการบ้านมาก่อน แต่ภาคดนตรีละเมียดละไมสมเป็นเพลงรักมาก เอาไป 7/10 หักคะแนนตรงเนื้อร้องนะครับ

(เด็ก)หล่ายดอย เนื้อหาเล่าเรื่องชีวิตเด็กที่ต้องมาเรียนต่างบ้านต่างเมือง ประมาณข้ามอำเภอมาอยู่ไกล พ่อแม่ ด้วยความตั้งใจจะร่ำเรียนให้สำเร็จ ด้วยจังหวะเพลงที่ช้า อาจจะฟังแล้วให้เหงา เศร้าและคิดถึงบ้านด้วย จุดประสงค์และเนื้อหาทำนองเป็นไปทางเดียวกัน แต่ด้วยว่าทั้งอัลบั้มมีเพลงจังหวะคล้ายๆกัน คนที่ไม่ชอบเพลงฟังช้าๆ อาจจะอึดอัด เพลงนี้ได้ใจผมไปเต็มๆในแง่ที่ทำออกมาตรงจุดแต่ตอดตรงชื่อเพลงที่ขึ้นต้น ว่า”เด็ก” เลยขอเอาวงเล็บมาใส่ให้ เอาแค่หล่ายดอยก็พอ ให้คนฟังไปคิดเองว่าทำไมต้องหล่ายดอย 8/10

ลุ่มน้ำยม เล่าเรื่องที่มาของน้ำยมแม่น้ำสายใหญ่สายหลักที่ไหลผ่านแพร่ แฝงด้วยแนวคิดอนุรักษ์เข้าไปด้วย ว่าคนเราควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติในช่วงที่แต่งเพลงนี้น่าจะเป็นช่วงที่น้ำ เอ่อท่วมเมืองแพร่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม๒๕๕๔

สวัสดีเวียงโกศัย เป็นเพลงเอก เพลงแรกที่ออกมาก่อนเพื่อนและยังได้รับเลือกให้เป็นเพลงต้อนรับนักท่อง เที่ยวในงานเปิดตัวเชิญชวนในงานของททท.สำนักงานแพร่ บางคนอาจจะเคยได้ยินมาก่อนนี้แต่เวอร์ชั่นนี้สมบูรณ์กว่าแผ่นแจกที่โปรโมทใน แอ่วกาดกองเก่า ครบเครื่องกว่า เนื้อหายังไม่ค่อยลงตัวนักแต่ทำนองรื่นหู บวกกับเสียงของน้องวิวที่ทำให้คนจะชอบและรักเพลงนี้ไม่ต่างจากเพลง “เมืองแพร่บ้านเฮา” 8/10

เด็กศิลป์ เพลงนี้มาแบบเพลงของ ฌามาเลยเนื้อหาเป็นเรื่องราวของเด็กอาชีวะสายศิลป์ตรงๆเลย ทำนองเร็วขึ้นกว่าเพลงอื่นๆฟังสนุก กว่าทุกเพลงเอาไว้เรียกแขกได้ดี ร้องโดยน้องนิว วิฬารีย์ ชอบงาน นักร้องสาวหล่อของวงกาสะลองที่เนื้อเสียงคล้ายๆกันแต่พลังและลำดับการไต่ เสียงจะด้อยกว่าน้องนิวไปนิดนึง 7/10

ลูกแม่ญิง เนื้อหาต้องการสอนหรือบอกให้เด็กหญิงในยุคนี้ ไว้นวลสงวนตัว รักศักดิ์ศรี รักในเกียรติของตัว โดยเนื้อหาเพลงอาจจะสวนทางกับเด็กๆรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ จนดูเป็นเรื่องล้าสมัยเอาไปเลย 9/10

เหนือเมฆ เพลงที่เล่าเรื่องกำแพงเมืองแพร่ และความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิดยังคงมีสะล้อเข้ามาแอบขโมยความเด่นในบาง ช่วง พูดตามตรงว่าการเรียงเรียงดนตรีเกือบทั้งหมดของกาสะลองจะให้ความสำคัญกับ ดนตรีพื้นเมืองมากกว่าดนตรีสากลที่เดินปูพื้นเป็นแบ็คกราวด์ให้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของวงเหมือนที่เขียนไว้ในปกซีดีที่ต้องการนำดนตรีพื้น บ้านมาให้คนรุ่น ไอโฟนได้ฟัง 8/10

ซิ้งม้อง มองเซิง เพลงจังหวะพื้นเมืองผสานกับ ลีลาสะล้อที่โดดเด่น (อีกแล้ว) เนื้อหาเล่าถึงการรักษาประเพณี สิลปะวัฒนธรรมของคนเมืองให้อยู่สืบไป ธรรมดาเรียบง่ายแต่ได้ใจ 8/10

กาสะลอง เป็นชื่อดอกไม้ หรือชื่อของวงดนตรี เพลงนี้สื่อความหมายได้ดีทั้งการตั้งชื่อวงดนตรีที่บอกตัวตนของนักร้องนัก ดนตรีได้ชัดเจน มีความตั้งใจมนการทำงานสูง เนื้อเพลงทั้งหมด เขียนโดย ปิยศักดิ์ ปิ่นทอง ส่วนภาคดนตรีก็ช่วยกันทำ ช่วยกันเรียบเรียง โดยมีคุณเจริญ ไชยมงคลเป็นผู้เรียบเรียงหลัก

เพลงพิเศษ เป็นเพลงเล่าเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านมุมมองธรรมดาๆที่หลายคนคุ้นเคย กลายเป็นความเคยชินที่ต้องล้อมวงมาดูโทรทัศน์ในช่วงสองทุ่ม หรือยี่สิบนาฬิกาของทุกวัน ซึ่งเราหลายคนคงได้เห็น ได้สัมผัสกันตลอดมาที่พระองค์ทรงครองราชย์

ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สง่างามและชัดเจนของ ชาวกาสะลองที่ประกอบด้วย จุฑาทิพย์ ฟั่นแบน (ร้องนำ) วิฬารีย์ ชอบงาน (ร้องนำ) ไตรภพ คุ้มงาม (สะล้อ) เจริญ ไชยมงคล (กีต้าร์) และปิยศักดิ์ ปิ่นทอง(กีต้าร์ ซึง ขลุ่ย ฮาโมนิก้า) ทั้งหมดจัดทำในเมืองแพร่ บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงบ้านเพลงเก่า หากท่านเป็นคนเมืองแพร่ และรักเมืองแพร่ ขอแรงใจสนับสนุนผลงานและความตั้งใจเพลงฟังเพราะๆทั้งแผ่นซึ่งยุคนี้จะหาได้ ยากว่าจะมีเพลงชุดไหนทำออกมา อีกอย่างไม่อยากให้ก็อปปี้มาแจกกันนะครับเห็นใจคนทำงาน และความตั้งใจที่อยากให้บ้านเมืองเรามีของดีดีอย่างนี้ออกมาอีกเป็นกำลังใจ ให้ด้วย หากสนใจติดต่อโดยตรงที่ คุณปิยศักดิ์ ปิ่นทอง ๐๘๒ ๐๓๕ ๗๑๖๒ หรือที่ร้านกาสะลอง วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ก็ได้ หรือเข้าไปใน www.youtube.com พิมพ์ในช่องค้นหาว่า เมืองแป้บ้านเฮา ก็จะได้ฟังตัวอย่างครับ แต่ถ้าอยากฟังสดๆ แวะมาแอ่วกาดกองเก่า ทุกแลงวันเสาร์ตั้งแต่บ่ายสามโมงถึงสองทุ่ม ถนนคำลือสี่แยกพระนอนเหนือ(บ้านวงศ์บัรี)ถึงประตูมาน

*** ส่วนตัวผมฟังหลายรอบแล้วยืนยันว่า หนึ่งร้อยยี่สิบบาทคุ้มค่าจริงๆกับเพลงชุดนี้***

ชินวร ชมพูพันธ์

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ย่อเรื่องเพียง 30 หน่วยงาน

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่อนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมชุมชน ท้องถิ่นและความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ยั่งยืน กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ งานขนมเส้นเมืองแพร่ งานประเพณีไหว้พระธาตุจอมแจ้ง ประเพณีกำฟ้า เป็นต้น

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่จัดที่ดินและที่อยู่อาศัยให้เกษตรกร ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตปฏิรูปที่ดิน พัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการเรียนรู้ หน้าที่หลักๆ ได้แก่ จัดหาที่ดินของรัฐและซื้อที่ดินเอกชน สำรวจรังวัดและทำแผนที่เพื่อการปรับปรุงสิทธิ จัดที่ดินทำกินและที่ดินชุมชน ปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน

สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ ๓ (ภาคเหนือ) มีหน้าที่เกี่ยวกับการสนับสนุน หรือร่วมปฏิบัติภารกิจด้านป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ห้องสมุดประชาชนจังหวัดแพร่จัดสถานที่ให้บริการทางด้านการค้นคว้าหาความรู้ ข่าวสารและข้อมูล ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเอกสาร สิ่งพิมพ์ สื่อทางด้านความรู้และความบันเทิงในทุกด้าน จัดการให้บริการความรู้แก่ประชาชน พัฒนาห้องสมุดประชาชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ในด้านการวางแผนการประชาสัมพันธ์รวบรวมข่าวสารทางราชการ องค์กร หน่วยงาน มูลนิธิ สถาบันการศึกษา ของจังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ โดยการใช้สื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หอกระจายข่าว เสียงตามสาย สื่อบุคคล สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (INTERNET)

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่สื่อวิทยุกระจายเสียงหลักของจังหวัดแพร่ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ทั้งใน ภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ด้วยการบูรณการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

สำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่จัดทำฐานข้อมูลทางด้านพลังงานของจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ให้บริการข้อมูลทางด้านพลังงาน ถ่ายทอด สนับสนุน องค์ความรู้ด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพการมัธยมศึกษาให้นักเรียนเป็นพลโลก ดำรงเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นตามมาตรฐานการศึกษา ภายในปี 2557

วิทยาลัยชุมชนแพร่จัดการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีและจัดการฝึกอบรม ส่งเสริมความรู้ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อศักยภาพจังหวัดและความต้องการของชุมชนอย่างทั่วถึง บูรณการร่วมกับชุมชนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น

โรงพยาบาลแพร่ให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ผสมผสาน ต่อเนื่อง ที่พอเพียงอย่างยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง พัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ร่วมผลิตแพทย์ และบุคลากรด้านสาธารณสุข

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่ สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และองค์กรชุมชน สู่มาตรฐานสากล

สำนักงานที่ดินจังหวัดแพร่พัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่และข้อมูลที่ดิน เพื่อสนับสนุนการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ ให้สอดคล้องตามเกณฑ์การผังเมือง ตลอกถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ของท้องถิ่น บริหารจัดการที่ดินของรัฐ ให้มีปรพสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่พัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน

สำนักงานคลังจังหวัดแพร่เป็นองค์กรหลักและศูนย์กลางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ กฎหมายการเงินการคลังบัญชี และการพัสดุภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจการเงินการคลังของจังหวัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้บริการเดินรถไฟ โดยได้เปิดการเดินรถ ระยะทางทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร และมีโครงการพัฒนาตามกิจกรรม เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ชำรุด โครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน โครงการก่อสร้างทางคู่

สำนักงานยุติธรรมจังหวัดแพร่ประสาน ส่งเสริม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอำนวยความยุติธรรมกับทุกภาคส่วน พิทักษ์ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสวัสดีภาพรวมทั้งทำให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงความยุติธรรมด้วยความเสมอภาค ทั่วถึง

สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดแพร่ รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและบริษัทจำกัด ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ออกหนังสือรับรองรายการทางทะเบียน ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล รวมทั้ให้บริการตรวจค้น การคัดสำเนา เอกสารทางทะเบียน

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ พัฒนาเศรษฐกิจการค้าของจังหวัด โดยร่วมมือกับภาคราชการ หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และสถาบันการค้าที่บทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการค้าของจังหวัด ดำเนินการจัดระเบียบการค้าของจังหวัด รวมทั้งวางแผนและปฏิบัติการส่งเสริม สนับสนุนภาคธุรกิจการค้าให้มีความสามารถในการแข็งขัน

สำนักงานขนส่งจังหวัดแพร่จัดระเบียบ พัฒนา และส่งเสริมการขนส่งและการสัญจรทางถนน ให้มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วเป็นธรรม คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน

กรมการค้าภายในจังหวัดแพร่พัฒนาและส่งเสริมระบบตลาด การตลาด และตลาด ให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสและให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร กำกับดูแลการค้าสินค้าและบริการ และการชั่งตวงวัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการดูแลราคาและพฤติกรรมทางการค้า

ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดแพร่ (POC)ทำหน้าที่เป็น Front Office เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของจังหวัดในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็น Web Site ในการให้บริการประชาชนทั่วไป ทำหน้าที่เป็น Back Office เพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงกลยุทธ์ในการบริหารราชการและการวินิจฉัยสั่งการของผู้บริหาร ทั้งภายในจังหวัด และเชื่อมโยงกับ ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (MOC) ศูนย์ปฏิบัติการกรม (DOC) และจังหวัดต่างๆ (POC)

สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแพร่ดำเนินคดีอาญาทั้งปวงที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งมีอายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ในวันกระทำความผิด ว่ากระทำความผิด โดยเด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ หรือกระทำความผิดในเขตอำนาจของศาล จังหวัดแพร่ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

ศูนย์ข้อมูลการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาการเกษตรรายสินค้า แผนบูรณการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และการจัดทำงบประมาณด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

สำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่บริการจัดหางานให้แก่คนหางานและประชาชน บริการจัดหางานพิเศษ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนพิการ ทหารปลดประจำการ บุคคลบนพื้นที่สูง ผู้พ้นโทษและผู้บำบัดยาเสพติด บริการจัดหางานให้แก่ผู้ประกันตนกรณีว่างงานตามระบบประกันสังคม

สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แพร่วิจัยพัฒนา อนุรักษ์สัตว์พื้นเมือง ถ่ายทอดเทคโนโลยี กระจายสัตว์พันธ์ดี สู่เกษตรกร เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับพันธุ์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้มีคุณภาพสูง เพื่อจัดสร้างแปลงหญ้าอาหารสัตว์

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่สามารถพัฒนาด้านการศึกษา, การพัฒนากีฬาและกิจกรรมนันทนาการ, การพัฒนาเศรษฐกิจ, การพัฒนาเกษตรกรรมในครัวเรือน, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาสาธารณสุข, การพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส, การพัฒนาการเมืองการปกครอง, การอนุรักษ์พัฒนา และส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น,การพัฒนาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ถวายความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุดป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนรวมอำนวยความยุติธรรม โดยยึดหลักนิติธรรม ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมโปร่งใส และตรวจสอบได้
ควบคุมและจัดการจราจรเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เป็นองค์กรนำการปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลกวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาโรคสัตว์ กำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ด่านกักกันสัตว์แพร่ควบคุมดูแลการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกชนิด สัตว์ปีกทุกชนิด (รวมทั้งนกทุกชนิด) รวมทั้งซากของสัตว์ ทั้งภายในท้องที่และข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ควบคุมป้องกันและกำจัดโรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์ติดคน
ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ค้าสัตว์ ประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์ โดยทั่วถึง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่พัฒนากลไก รูปแบบวิธีการการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง กำกับ ดูแล สถานประกอบการ ประสานงาน เครือข่าย องค์กรท้องถิ่น ในการบริหารจัดการให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี พัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพแบบองค์รวม แก่ประชาชนตามเกณฑ์มาตรฐาน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฝายยักษ์(ปู่ละหึ่ง)


สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเดือนที่ผ่านมาครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง น้ำท่วม และต่างๆนานาสารพัด สำหรับเรื่องที่จะจับประเด็นกันคงไม่พ้นเรื่องน้ำครับซึ่งกำลังดุเดือดกันมากเลยช่วงนี้ เมืองแพร่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครับ จึงได้มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อประชาชนในพื้นที่และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีโครงการ "ชาวแพร่ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว สร้างฝายถวายพ่อหลวง ๘,๔๐๐ ฝาย" เราได้ติดตามโครงการไปที่บ้านนาคูหา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว



พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รูปแบบและลักษณะฝายนั้นได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ ”

“.......สำหรับต้นน้ำไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตามสำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก......” การสร้างฝายเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูป่า โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นฝาย จึงหมายถึง สิ่งที่ก่อสร้างหรือกั้นขวางทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง ในกรณีของจังหวัดแพร่ที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 8,400 ฝาย ทั่วจังหวัดแพร่ ตามโครงการ ชาวแพร่ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อถวายพ่อหลวง ได้เกิดคำถามขึ้นจากชาวตำบลสวนเขื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ ว่าแท้จริงแล้ว ฝายจะอำนวยประโยชน์ให้กับชาวบ้านจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลที่ได้ในขณะนี้ทำให้หลายๆฝายเริ่มสงสัยถึงประโยชน์ที่แท้จริง

บริเวณด้านหน้าเขื่อน ที่มีการสร้างอย่างใหญ่โต ทำให้คนในชุมชนและผู้ที่มาช่วยงานเกิดความสงสัย เพราะตามความเข้าใจของคนทั่วไปการสร้างฝาย หมายถึงการทำสิ่งที่ขวางกั้นทางน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่โต และเหมาะสมกับสภาพของบริเวณที่ต้องงการสร้าง หากพิจารณาถึงขนาดของลำธารที่อยู่ด้านล่างกับภาพของฝายที่สร้างนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างฝายว่า การสร้างฝายโดยหลักๆ มี 3 ประเภท คือ ฝายแบบผสมผสาน ฝายกึ่งถาวร และฝายแบบถาวร ซึ่งฝายแบบผสมผสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดักตะกอนและเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ไหลมากับน้ำ และช่วยลดความเร็วหรือชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานนี้ ลำห้วยควรมีความกว้างประมาณ 3 – 5 เมตร ลึกประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ส่วนฝายแบบกึ่งถาวร เป็นฝายชนิดหินก่อคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นฝายที่มีความมั่นคงแข็งแรงพอสมควร ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างบริเวณ Second Order Stream หรือ Third Order Stream ของลำห้วย และสุดท้ายฝายแบบถาวร เป็นฝายชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความมั่นคงแข็งแรงซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในตอนปลายของลำห้วย
จากภาพที่เห็นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วฝายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้เป็นฝายแบบไหนกันแน่ เพราะจากโครงสร้างที่เห็น ไม่ได้มีการใช้คอนกรีตเสริมใยเหล็ก ใช้โครงสร้างเป็นไม้ไผ่แล้วเทคอนกรีตทับ ส่วนด้านข้างของลำห้วยก็ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นแนวขึ้นบันไดแล้วก็เทปูน

สิ่งที่คนในชุมชนเริ่มหวาดกลัว คือจะมีความแข็งแรงหรือไม่ ในอนาคตจะเกิดการถล่มของดินบริเวณนั้นหรือเปล่า เพราะหากดูตามโครงสร้างของไม้ไผ่แล้ว ไม้ไผ่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรงในระดับที่ไม่มาก เกิดการผุพังได้ง่าย หากในอนาคตไม้ไผ่บริเวณนี้เกิดการผุพังแล้วคอนกรีตที่อยู่ในบริเวณเดียวกันก็อาจจะผุพังตามด้วยได้
ผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด คำถามเหล่านี้ จึงเป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่เกิดจากการสงสัยของชาวบ้าน และกำลังรอคอยคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



บทความข่าวเกี่ยวข้องเพิ่มเติมhttp://www.thainewsagency.com/region-news/11/09/2011/37597/

มุมนักธุรกิจ มองไปข้างหน้า อยู่กับชุมชน น้ำ

คอมมูนิตี้ มอลล์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลจากน้ำท่วมอาจเป็นแรงส่งเร่งอัตราการเติบโต

โพสต์ทูเดย์ 14 พย 54

คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Colliers International Thailand) รายงานอสังหาริมทรัพย์ภาคค้าปลีกในกรุงเทพฯ ไตรมาสที่ผ่านมา ระบุว่า มีคอมมูนิตี้ มอลล์แห่งเดียวที่เปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 และยังมีอีกหลายแห่งจะทยอยเปิดตามมา ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนพื้นที่รวมของคอมมูนิตี้ มอลล์มากกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ต นางอัจฉราวรรณ วจนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตัวแทนการขายและหาผู้เช่าธุรกิจค้าปลีกอธิบายว่า น้ำท่วมอาจเป็นผลให้เจ้าของโครงการหลายรายหันมามองหาทำเลสำหรับคอมมูนิตี้ มอลล์ในย่านที่ไม่เคยพิจารณามาก่อน

“เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม ประชาชนต้องการสถานที่ซื้อสินค้าใกล้บ้านที่พักผ่อนหย่อนใจได้พร้อมๆ กับสัมผัสบรรยากาศความเป็นชุมชน” นางอัจฉราวรรณให้ความเห็น

ในบริเวณที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม การสร้างคอมมูนิตี้ มอลล์จำเป็นต้องคำนึงถึงความสูงของอาคารชั้นล่างสุดเนื่องจากต้องเข้าออกได้ ตลอดเวลา ทั้งต้องมีอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาสำรองเตรียมไว้เป็นอย่างดี บางแห่งต้องคำนึงถึงบริการพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับบริเวณทำความ สะอาดและสุขอนามัย เพราะแม้แต่ในช่วงฝนตกหนักก็อาจเกิดปัญหาได้ และประชาชนอยากรู้สึกสบายใจเวลาอยู่ในห้าง นอกจากนั้นความเป็นชุมชนจะทวีความสำคัญมากขึ้น

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 อุปสงค์เติบโตช้าลงเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 โดยอุปสงค์ที่แล้วเสร็จรวมประมาณ 11,000 ตรม. ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์เพียงแห่งเดียว โดยทั่วไป ศูนย์ค้าปลีกมักเปิดให้บริการในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายของปีเพื่อเตรียม พร้อมรองรับช่วงเทศกาลซึ่งเป็นช่วงขายดี พื้นที่ค้าปลีกใหม่ 260,000 ตรม. มีกำหนดจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ได้แก่ เทอร์มินัล 21 และเซ็นทรัลพระราม 9 นอกจากนั้นยังมีเซ็นทรัล เวิลด์ซึ่งจะเปิดให้บริการครบทุกส่วน อัตราค่าเช่าพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และอัตราการครอบครองเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

น้ำท่วมในครั้งนี้เน้นให้เห็นปัญหาของการกระจายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะ และชั้นวางสินค้าในห้างหลายแห่งถูกจับจองจนหมด ในขณะที่อีกหลายแห่งยังมีสินค้าสต็อกในปริมาณมากพอ โดยนายปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการของคอลลิเออร์สฯ กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกต้องกลับไปทบทวนการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ของตนหลังเกิดความเสีย หายอย่างรุนแรงจากน้ำท่วม

“จำเป็นต้องมีคลังหลายๆ แห่งในการจัดส่งสินค้าจำเป็นมายังศูนย์กลางการค้าปลีกในกรุงเทพฯและตัว จังหวัด เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศูนย์กระจายสินค้าเพียงเดียว นอกจากนั้นคลังสินค้าต้องตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและเชื่อมต่อกับทางยกระดับได้ ง่าย” นายปฏิมาชี้แจง และยังเสนอแนะให้รัฐบาลตั้งศูนย์คลังสินค้าฉุกเฉินเพื่อจัดเก็บสินค้าที่ไม่ เสียง่าย เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดและอาหารกระป๋อง ทั้งภาคค้าปลีกเอกชนและภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับแผนสำรอง ไม่เพียงแต่เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม แต่ยังต้องเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว

“เราต้องไม่ดูเพียงแต่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว เพราะเมื่อไม่นานมานี้เอง ทุกคนยังวิตกกังวลเรื่องแผ่นดินไหวกันอยู่เลย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเตรียมตัวรับภัยพิบัติหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น" นายปฏิมาเสริม

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับน้ำท่วมก็คือจำ จำนวนร้านชำที่เลือกสร้างแนวป้องกันด้วยคอนกรีตแทนการเลือกใช้ถุงทราย นายโทนี พิคอน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยให้ข้อมูลว่า หลายๆ ร้านเกิดความวิตกกังวลว่า หากน้ำท่วมจะท่วมนานเกินหนึ่งเดือน

"เจ้าของร้านส่วนใหญ่ตระหนักว่าถุงทรายไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการรับ มือกับน้ำท่วมระยะยาว ประกอบกับมีเวลาสร้างแนวป้องกันที่แข็งแรงกว่า" นายโทนีกล่าว ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่คงป้องกันเท่าที่ทำได้แต่นายโทนีแนะนำให้หาวิธีการ ป้องกันที่ดีกว่านี้หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมบรรเทาลง

คนส่วนใหญ่จะใช้ฤดูที่ฝนไม่ตกในการขบคิดหาวิธีการป้องกันทรัพย์สินของตน เองให้ดีขึ้นและอาจพิจารณาเลือกใช้แผ่นอลูมิเนียมหรือเหล็กแบบถอดได้ที่ สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว หลายประเทศประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ออสเตรเลียและอังกฤษซึ่งเป็นผลให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ความจำเป็นคือแรงผลักดันให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น และในกรณีนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันน้ำท่วมนวัตกรรมใหม่

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ช่างซอเมืองแพร่

ช่างซอเมืองแพร่

โดยช่างซอ โชคชัย (ถามตอบกับ ศรีสว่าง นริศ)

เผยแพร่ในเฟสบุค

เมืองแป้มีคณะซอปี่กี่คณะอ่าครับ

ตอนนี้ ถ้าเอาจริงๆ เหลือแค่สองคณะครับ คณะที่ดังที่สุด คือคณะ สุวรรณ นงคราญ แต่ พ่อสุวรรณพึ่งเสียชีวิตไปครับ ที่เหลือจะมีคณะแม่ครูพะยอม และก็คณะ อนุรักษ์ศิลป์ ของอาจารย์ ประหยัดครับ

อ่อ ครับ คณะซอตี่น้องว่านั้นเปิ้นซอได้ตึงทำนองล่องน่าน ตึงเข้าปี่กาครับ

ครับผม ช่างซอแพร่ 80 เปอร์เซนต์เป็นช่างซอปี่ครับ และเกือบทุกคนจะซอล่องน่านได้หมดครับ ปัจจุบัน ช่างซอปี่หันไปซอล่องน่านก็เยอะครับ เพราะขาดแคลนช่างปี่

แสดงว่าแต่เดิมเมืองแป้นิยมซอเข้าปี่ แล้วซอน่านก็เข้ามาปายลูนน้อครับ

ครับ จากที่ผมศึกษา และทำรายงานไปเทอมที่แล้ว ได้ข้อสรุปว่า ซอล่องน่าน พึ่งเข้ามาได้ประมาณ50 ปี ผ่านสองช่องทางหลักคือ 1 ชาวแพร่ไปเรียนการขับซอแบบล่อง น่านที่น่าน เช่นกรณี แม่ครูลำดวน และช่องทางที่สอง คือ มีช่างซอจากน่าน มารับจ้างสอนซอ เขาเรียกว่า พ่อครูสมพร คนที่เรียนกับพ่อครูสมพร ก็มี พ่อหนานสงคราม

การเปลี่ยนผ่านกันทำให้มีทำนองซอพิเศษ คือ ทำนองที่มาจากซอปี่ แลต่ไปใช้ในการขับซอเข้าพิณ เช่น ทำนองตั้งดาด หรือตั้งเชียงใหม่ ทำนองละม้าย จะปุ เงี้ยว พม่า อื่อ เป็นต้นครับ

ตอนนี้มีแหมอย่างตี่ยังบ่ใคร่เผยแพร่ในวงวิชาก๋ารคือซอล่องน่านมีทำนอง(ระบำ)อะหยังพ่อง ละก็มีความเหมือนและความแตกต่างจากซอเข้าปี่จะใดพ่อง เพราะมันเข้าใจ๋ฮู้กั่นเฉพาะจ่างซอ แต่เพื่อการเผยแพร่สืบทอดความฮู้นั้นยังบ่มีใผไขออกมาเตื่อน้อครับ เกยมีอาจ๋ารย์ม.มหิดล เปิ้นทำวิจัยเรื่องซอในภาคเหนือแต่ก็อู้ถึงแต่ความแตกต่างของเครื่องดนตรี และทำนองเพลงเต้าอั้น แล้วเผยแพร่ในตี่สัมมนาว่าซอปี่ต่างกับซอล่องน่านโดยบ่อู้ถึงความเหมือนเลยครับ แต่ตี่อ้ายได้ฟังนั้นคิดว่าเหมือนกั๋นอยู่หลายอย่าง อาจจะเคลื่อนกั่นหั้นน้อยนี้น้อย แต่เค้ามันอันเดียวกั๋น น้องคิดว่าจะใดพ่องครับ

ผมกำลังทำเรื่องทำนองซอปี่ ที่ปรากฏในซอล่องน่านอยู่ครับ แต่เราไม่สามารถหาหลักฐานอ้างอิงได้ มีแต่ข้อสัณนิษฐาน เพราะผู้ที่จะให้สัมภาษณ์เราคืิอบรรดาช่างซอที่เกิดในยุคนั้น ไม่เหลือให้สัมภาษณ์ละครับ เท่าที่ผมศึกษา เรื่องซอล่องน่าน ในแพร่ ก็เป็นผมคนแรกทที่ศึกษาสำรวจ สัมภาษณ์ เพราะแม้แต่แพร่เองก็จะเข้าใจว่าซอของตนเองคือซอล่องน่าน ส่วนเรื่องทำนองนั้น มีข้อสัณนิษฐานดังนี้ครับ

แล้วทำนองเฉพาะของซอล่องน่านที่ไม่เหมือนซอปี่มีไหมครับ

ช่างซอแพร่ีทีเยอะมาก แต่ช่างปีไม่พอตอ่ความต้องการ และในยุคเดียวกันนั้น ซอล่องน่าน โด่งดังและได้รับความนิยมมากในแพร่ เพราะเป็นของใหม่ ช่างซอแพร่ จึงคิดทดแทนโดยใช้เคืร่องดนตรีแบบน่าน คือพิณ และสะล้อ แทนการใช้ปี่จุม แต่การเปลี่ยนไปซอล่องน่านทันทีนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะช่างซอแพร่ไม่คุ้นเคย จึงยังคงใช้ทำนองที่ซอปี่เดิม แต่ซอเข้ากับเครื่องดนตรีใหม่ คือซึงและสะล้อ แทนการซอเข้าปี่ ที่ขาดแคลน

ซอตั้งเชียงใหม่ เมืองน่าน เรียก ดาดแป้ ซอตั้งดาด ขึ้นดาด บ้าง แต่ซอไม่ครบวรรค ข้อนี้ฟันธงได้แน่นอนเลย ว่ารับไปจากซอปี่ เพราะเอาไปไม่ครบ แต่ในแพร่ บางคณะซอครบเหมือนปี่ทุกประการ ซอจะปุ จะเรียกกันว่าซอกล๋าง หรือหล๋ามกล๋าง ซอละม้าย จะเรียกกันว่า ซอเหลี้ยง

แต่ทำนองเพลงก็เป็นแบบเป่าปี่ใช่ไหมครับ

ทำนองไม่ต่างกันเลยครับ ซอปี่และน่าน ต่างกันที่เครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบการขับซอเท่านั้น แต่น่านจะมีทำนองหลักของเขาอยู่ เดิมแล้ว คือ ทำนองน่านช้อย หรือดาดน่าน1 และซอลับแลง ที่ซอปี่จะเรียกว่า น่านกล๋าย ซอปี่ในบทลงจะลงด้วย โอ้ละน้อ ละนอน้องแหละนาย

ดีจังครับที่น้องได้ศึกษาเก็บข้อมูลไว้

ทำนองดนตรี จะคล้ายๆปี่ บางที่ก็จะมีโน้ตดนตรีต่างกันออกไป การบรรเลงดนตรีประกอบการขับวอ ส่วนใหญ่ บรรเลงตามเสียงและการเดินซอช่างซออะครับ ช่างซอลัดขึ้นตรงไหน ดนตรีก็จะตาม ไม่มีอะไรที่ตายตัวครับ

ถ้าสังเกต ซอล่องน่านที่แพร่ ถ้าซอทำนองพิเศษ ดนตรีจะคล้ายดนตรีซอปี่ที่สุด และของน่านก็มีเอกลักษณ์ต่างออกไปนิดนึง แต่ฉันทลักษณ์ของบทซอ ยังคงเดิม ครับ

เรื่องนี้ต้องรีบศึกษา เพราะช่างซออาวุโสเหลือไม่มากแล้ว แต่ก็ยังคงยากที่จะหาข้อสรุป คงได้เพียงแค่ข้อสัณนิษฐาน ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดครับ

ครับ ไงก็ดีใจและขอเป็นกำลังใจให้น้องเก็บรวบรวมข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาสืบสานเผยแพร่ต่อไปครับ

ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างจริงจังกันต่อไป เพราะข้อมูลของผมคนเดียว อาจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ได้ ถ้ามีคนนำเหตุผลที่มีความเป็นจริงมากกว่า มาหักล้าง ข้อสัณนิษฐานของผมเหล่านี้ก็เป็นศูนย์

ขอบคุณครับผม

โครงการคนรุ่นใหม่ พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม

โครงการคนรุ่นใหม่ พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม

นราวดี หนองบัว


ที่มาของโครงการ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดเวทีคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ภายใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น ณ ห้องประชุมชั้น 1 พอช. โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน












นายคำเดื่อง ภาษี ประธานคณะทำงานโครงการคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่นตนเอง และได้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันงานของชุมชน และสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายคนรุ่นใหม่ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างการพัฒนา โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับสนับสนุนงบประมาณเป็นทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพ และรายได้ของครอบครัวคนรุ่นใหม่ เดือนละ 4,500 บาท


สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น รุ่นที่ 4 ได้คัดเลือกคนรุ่นใหม่จากทุกภาคเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน ทั้งนี้ โครงการคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่นได้ดำเนินการ ไปแล้ว 3 รุ่น มีผู้ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน ซึ่งมีจำนวน 83 คนที่ทำงานและดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง


ดังนั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ต้องดึงความดีของตนเองและของชุมชนออกมาเพื่อสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่มีใครสามารถทำคนเดียวได้ต้องร่วมทำทั้งสังคม เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติมาก่อน ทำให้เราสามารถจัดการภัยภิบัติได้เป็นอย่างดี เหตุเพราะความมีน้ำใจ


การทำงานต้องใช้หลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หลักการนี้ตรงกับหลักสากลคือ ต้องคิดดีเมื่อจะเริ่มทำ แล้ววิเคราะห์ผลเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้น การพัฒนาตนเองและพัฒนางานให้สำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การลงมือทำ คิดให้รอบครอบแล้วลงมือทำ โดยทำร่วมกับคนอื่น “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” แล้วจะเกิดการเรียนรู้มหาศาล แต่ไม่ทิ้งตำราหรือการเสาะแสวงหาความรู้ คือต้องใช้ความรู้ควบคู่กันด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการ “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” การเรียนรู้ที่แท้จริงคือ การกระทำ ตามหลักไตรสิกขา “ศีล สมาธิ ปัญญา” ต้องปฏิบัติ ร่วมทำ ร่วมติดตามผลและร่วมเรียนรู้ ทำเป็นวงจร โดยใช้เวลา ๑ ปีเป็นอย่างน้อย หากมีใจที่มุ่งมั่น แล้วก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้ และทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เป็น “วงจรบุญ”




ทั้งนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่นทั้ง ๑๐๐ คน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น ที่ สถาบันภูมิปัญญาไทย ตำบลหัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ ก่อนที่แยกย้ายไปทำงานพัฒนาที่บ้านเกิดของตนเอง




กำลังทำอะไรอยู่

ปัจจุบัน กำลังทำงานให้กับชุมชน อาทิเช่น
- งานสรุปกิจกรรมของสภาองค์กรชุมชนตำบลป่าแดง
- งานเยาวชนในตำบลป่าแดงและเป็นทีมหนุนเสริมของโครงการแก้ไขปัญหาเอดส์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อ PHA แพร่สนับสนุนโดย มูลนิธิพะเยาและกองทุนโลก
- งานกองเลขาของจังหวัดแพร่(สภาพัฒนาการเมือง สภาองค์กรชุมชน)



จะทำอะไรต่อไป

- ในอนาคตอยากทำความฝันของตัวเองที่ฝันไว้ให้สำเร็จและทำหน้าที่ในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไปและจะทำให้ดรที่สุดตามความสามารถที่เรามี และจะนำความรู้ที่ได้เรียนมานำมาใช้ประโยชน์กับงานที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ขับเคลื่อนการทำงานของเยาวชนให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น สามารถทำให้เยาวชนเข้าใจว่าการทำงานกับชุมชนไม่ได้ยากอย่างที่คิด

นางสาวนราวดี หนองบัว
เยาวชน ตำบลป่าแดง

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชลประทานบอก ไม่ต้องกังวลใจ ว่าอ่างแม่สายจะแตก



ความกังวลใจดังกล่าวนั้น ทำให้ชาวช่อแฮชวนกันกับชาวบ้านอื่น ๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบมารวมตัวกันเมื่อวันที่ 8 พย. 54 ที่ห้องเทศบาลช่อแฮ เริ่มประชุมประมาณเวลา 9.30 น. เจ้าหน้าที่ชลประทานขอความเห็นว่าจะมีเวลาถึงกี่โมง ในที่ประชุมบอกว่าเที่ยง มีบางเสียงบอกว่าขอฟังจนหายข้อสงสัย

หนึ่งสาขาของแม่น้ำยมนี้ แม่สายเป็นลำน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลรวมประมาณ 40 - 45 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คู่กับน้ำแม่ก๋อน ที่มีประมาณ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อปี น้ำทั้งสองสายนี้ไหลทำความชุ่มชื้นแก่ดิน เรือกสวนไร่นาของพื้นที่ในตำบลช่อแฮ ป่าแดง บ้านกวาง บ้านกาศ ร่องกาศ เวียงทอง สบสาย บ้านเหล่า ดอนมูล โดยเหมืองฝายเก่าแก่และคันคลองชลประทานผสมผสานเชื่อมโยงกัน

นอกจากนั้นน้ำยังถูกทดผ่านฝายอายุหลายร้อยปีให้ส่งน้ำขึ้นไปทางเหนือ โดยเหมืองหลวง เหมืองน้ำไหลย้อน จ่ายน้ำให้กับตำบลสวนเขื่อน บ้านถิ่น เหมืองหม้อ กาญจนา และ เข้าสู่คูเมืองโบราณเมืองแพร่ ก่อนจะไหลลงสมทบกับน้ำแม่แคม

อ่างแม่สายเกิดขึ้นด้วยความต้องการทางเกษตรกรรมเป็นหลัก

ชาวบ้านได้ส่งคำถามผ่านเทศบาลช่อแฮไปถึงชลประทาน อันเป็นจุดให้เกิดการประชุมครั้งนี้ 11 ข้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชลประทานได้ตอบ พอสรุปได้แต่ละคำถามดังต่อไปนี้



1. ถ้าเกิดเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำรั่วและดินถล่มจะเตรียมการป้องกันและการอพยพอย่างไร

เจ้าหน้าที่ชลประทานบอกว่า ถ้าน้ำทะลุออกมาได้คือความผิดพลาดทางเทคนิค น้ำต้องผ่านฟิลเตอร์หรือทรายกรอง ถ้าจะย้วยจนน้ำทะลุก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าที่จะเกิดความเสียหายก็นานพอที่จะพร่องน้ำ ระบายน้ำออกได้ รวมถึงเตือนภัยได้และอพยพทัน

แต่เขื่อนจะมีเครื่องมือตรวจสอบวัดพฤติกรรมของเขื่อน (x-ray) มีเจ้าหน้าที่ วิศวกรคอยเฝ้าดูระดับการซึม ว่าเกินที่คาดคิดหรือไม่ ซึ่งมีระบบจัดการน้ำซึมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว พ้นจากน้ำซึม หากมีการสังเกตได้ถึงสีของน้ำที่ขุ่น อัตราการไหลที่รุนแรงขึ้น ก็จะเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาเรื่องพร่องน้ำ หรือ ประกาศอพยพดังกล่าว



2. มีคลองส่งน้ำ ซ้าย-ขวา หรือไม่

ส่งน้ำลงท่อไปยังระบบจ่ายน้ำเดิม ของแม่สาย ที่ใช้การได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีความต้องการเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้
โดยต้องขอเป็นอีกโครงการ



3. สามารถต้้งคณะกรรมการตรวจสอบได้หรือไม่

ในแง่มุมของวิศวกรรมมีระบบตรวจสอบหลายชั้นอยู่แล้ว เช่น การตรวจคอนกรีตก็จะส่งไปที่ห้องปฏิบัติการที่กำแพงเพชรซึ่งแน่นอนกว่าที่เขตก่อสร้างหรือห้องปฏิบัติการของไซต์งาน



4. ถ้าชาวบ้านมีปัญหาเร่งด่วน จะถามที่ใคร

ในช่วงระหว่างก่อสร้างก็ถามได้ที่ไซต์งาน (คุณคำรณ) ถ้าแล้วเสร็จก็ถามที่ชลประทานจังหวัดแพร่ (คุณปราโมทย์)



5. การคำนวนรอยเลื่อนบริเวณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมีกี่ริกเตอร์

ริกเตอร์เป็นมาตราวัดความแรงของแผ่นดินไหว โดยปกติแล้วถ้าศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พม่าวัดได้ 5-6 ริกเตอร์ จะวัดได้ที่แพร่ประมาณ 1-2 ริกเตอร์ ซึ่งจะไม่เป็นผลต่อสิ่งปลูกสร้างใดๆ และอ่างแม่สายสร้างเผื่อแรงสั่นสะเทือนถึง 6-7 ริกเตอร์ คำว่ารอยเลื่อนมีพลัง ที่มีอยู่ในหลายหมู่บ้านแถบนี้ หมายถึงนักธรณีวิทยาพบหลักฐานว่าก้อนหินแผ่นหินใต้ดินมีการขยับตัวเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีมาแล้ว



6. การทดสอบน้ำยาบ่มคอนกรีต ถ้าไม่ผ่านการทดสอบจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

การบ่มที่ดีที่สุดคือการใช้น้ำ ถ้าได้ถึง 7 วันยิ่งดี ดีกว่าใช้น้ำยาใดๆ น้ำยาทำได้เพียงเคลือบผิวข้างนอก นำมาใช้เพราะสะดวก หากใช้ไม่ได้ก็ต้องหายี่ห้ออื่นมาทดสอบอีก ยี่ห้อที่จะใช้ต้องผ่นการทดสอบทดลองจนพอใจ ไม่ผ่านก็ไม่ใช้ ต้องเปลี่ยนจนผ่าน




7. งบประมาณในการก่อสร้าง และการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อไร

300 ล้านบาท ในสัญญา เริ่มการก่อสร้าง 2 ก.ย. 2552 ถึง 21 ตค. 2554 เมื่อมีการแก้ไขแบบจึงต่อสัญญาจนถึง 26 ม.ค. 2555 ขณะนี้สร้างได้ประมาณ 50%




8. สาเหตุที่การก่อสร้างล่าช้า เพราะอะไร

รออนุมัติการขอใช้พื้นที่ป่าจาก รมต.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบางส่วนของป่าเป็นพื้นที่่ 1A เป็นป่าต้นน้ำ จึงยังเข้าไปดำเนินการไม่ได้ และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ หากทำก็จะติดคุก เรื่องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว ส่งเมื่อ เมย. 54 ตรงนี้เป็นความล่าช้าเพราะเปลี่ยนรัฐบาล และ เรื่องน้ำท่วม

อ่างน้ำในแพร่จะติดพื้นที่ป่า เช่น อ่างข่วงบุก อ่างแม่แคม แต่อ่างแม่สายได้รับงบประมาณก่อนผ่านขึ้้นตอนนี้


สาเหตุความล่าช้าอีกประการหนึ่ง พบว่าชั้นหินใต้ดินนั้น ปริมาณมากกว่าที่สำรวจไว้ ปริมาณที่ต้องระเบิดขนออกเยอะกว่าที่สัญญามากกว่า 10 % จึงต้องแก้ไขสัญญาขยายกรอบวงเงิน



9. รอยรั่วของอ่างเก็บน้ำจะเกิดขึ้นไหม

รอยรั่วมี 3 อย่าง การรั่วผ่านชั้นฐานล่างได้ป้องกันโดยการอัดฉีดปูนซีเมนต์ลงไปเป็นกำแพงใต้ดินแล้ว การรั่วผ่านแกนดินซึ่งเป็นแกนเขื่อนได้บดอัดอย่างดีแล้ว และเป็นดินที่มีความหนาแน่นสูงดีมาก ซึ่งมีเครื่องมือเอกซสเรย์ได้ รวมถึงการรั่วผ่านท่อคอนกรีตรั่ว ก็ใช้เครื่องมือนี้ตรวจสอบ



10. มีเครื่องสัญญาณวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินหรือไม่

เครื่องวัดความสั่นสะเทือนของกรมชลประทานมีอยู่ที่ อุทยานแห่งชาติแม่ยม ม่อน... งาว กว๊านพะเยา และ บ้านหลวง น่าน ของกรมอุตุฯ มีที่เชียงใหม่ ของ กฟผ. มีทุกเขื่อนใหญ่ ของกรมอุทกศาสตร์ มีที่กองทัพเรือ

จึงไม่มีที่อ่างแม่สาย แต่จะมีเครื่องมือที่วัดพฤติกรรมของเขื่อน คือ วัดการเอียงตัว การย้วยการฉ่ำน้ำ การทรุดตัว ซึ่งทุกอย่างมีระดับที่เขื่อนรับได้ จนกว่าจะถึงระดับที่ต้องแจ้งเตือน

บอกชาวบ้านว่า นอนลับให้สบยไม่ต้องกังวล เขื่อนของกรมชลประทานไม่เคยพัง และอย่าลืมวัฒนธรรมของเรา การจัดพิธีเลี้ยงปู่ละหึ่งกับย่าแก้ว



11. ให้ประกาศแปลนก่อสร้างได้หรือไม่

ดูได้หลังจากจบคำถามแล้ว



นอกจากนั้นก็มีคำถามเพิ่มคือ


12. รับประกันการพังอย่างไร ตอบ ไม่พัง 100 % ทำเต็มที่แล้ว บริษัทรับเหมาถูกปฏิเสธไปหลายรายการแล้ว
13. ระบบเปิดปิดประตูน้ำ ที่ใช้ไฟฟ้า หากดับจะทำอย่างไร ตอบ ใช้แรงคนได้ แต่ภายหลังต้องมีเครนช่วย หรือ มีีระบบปั่นไฟฟ้าสำรอง
14. จากสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ทางคนชลประทานได้คำตอบไหมว่า เราจะสู้กับน้ำ หรือ อยู่กับน้ำ ตอบว่า กรมชลประทาน มีหน้าที่สนองตอบความต้องการของประชาชน ถ้าต้องการเขื่อนก็จะสร้างเขื่อนให้ ถ้าประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ก็อาจไม่ต้องใช้เขื่อน คนกับน้ำต้องอยู่ด้วยกัน ต้อง รัก - เคารพ - ศรัทธา น้ำ
15. ถ้าอ่างแตกเนื่องจากสาเหตุที่่ไม่คาดคิด ระดับน้ำทีจะท่วมหมู่บ้านจะสูงแค่ไหน ตอบ จะทำแบบจำลองออกมาให้ดู
16. ถ้าจะมีพายุระดับเท่านกเต็นเข้ามาช่วงที่ยังทำไม่เสร็จ จะเป็นอย่างไร ตอบ ดูระดับน้ำ ถ้าคาดว่าจะอันตราย ก็ต้องพร่องน้ำ โดยเปิดช่องให้ระบายออกมาได้
17. จะมีการเชื่อมโยงระบบน้ำกับอ่างอื่น ๆ หรือ ไม่ ตอบ มีโครงการตัวอย่างเรื่องอ่างพวงที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สามารถศึกษาดูได้
18. ถามว่ามีความรู้ใหม่ที่ได้จากการสร้างเขื่อนนี้ไหม? เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มี ก็เหมือนกับเขื่อนอื่น ๆ


ความคิดเห็นผู้สังเกตการณ์ (วุฒิไกร)

ควรสร้างมิติแห่งมิตรของการกระจายข้อมูลข่าวสาร เชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจ กิจกรรมที่เรียกว่า "ประชาคม" อาจเป็นตัวอย่างหนึ่ง และก็สามารถทำเสริมได้ ซึ่งอาจเป็นการประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งการรับฟังข้อมูล ข้อคำถามจากชุมชนที่เกี่ยวข้องให้งามครบถ้วนสมควร

ซึ่งทั้งท้องถิ่น และ หน่วยงานเองก็ยังทำได้ในครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันคิดอ่านถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่มาถึง เช่น แผนเยียวยา แผนอพยพ รวมถึงการดูแลเฝ้าระวัง

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หนานเรินกับแผนที่เที่ยวบ้านไม้ช่อแฮ


หนานเรินโชว์แผนที่ทำมือ ไม่ต้องพึ่งแมปคุณกู ชวนกันอนุรักษ์บ้านไม้เรือนเก่า เขตตำบลป่าแดง ช่อแฮ

กฐิน ณ วัดประตูป่า เพื่อกระบวนการอนุรักษ์


วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 ภาคีอนุรักษ์สถาปัตยกรรมร่วมกันทอดกฐิน ณ วัดประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นทั้งที่ตำบลประตูป่า และ จ.น่าน จ.แพร่ จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แบบเขายืดวอล์ลสตรีท จะมีที่ไหนอีก

ผมคิดว่าเรื่อง"ยึดวอลล์สตรีท" เป็นเรื่องที่คนไทยพูดถึงกันน้อยมาก ในขณะที่เยาวชน คนทำงานในอเมริกา ยุโรป อเมริกากลาง รวมทั้งเอเซีย ซึ่งมีญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ออกมาเคลื่อนไหว
เรื่องอัตราดอกเบี้ยธนาคาร รายได้ธนาคารหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เราพูดกันน้อยไป?
เรามีกฎหมายใหม่อนุญาตให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ผันตัวเองเป็นธนาคารได้
เราเห็นการเปิดให้มีการกู้ ให้กู้เครดิตซื้อของผ่อนส่ง เช่นอีอ้อน อยู่ดาดดื่น
และเราก็เห็นขบวนการปล่อยเงินกู้ด้วยดอกมหาโหดจากเศรษฐีเงินกู้(หลายคนยืนยันว่าอยู่แถวอุทัยธานี)
แล้วก็จ้างคนตามหนี้สวมหมวกกันน๊อค(สังเกต มอเตอร์ไซค์ ทะเบียน อุทัย) ตามทวงอย่างเอาเป็นเอาตาย

หลายเรื่องที่ผลกระทบจากทุนข้ามชาติ ทุนไร้ชาติ(ไร้มนุษยธรรม) กระทำกับประเทศยากจน(ไทยด้วย)
คนฝรั่งเสียอีกที่ทนไม่ได้ จริงอยู่แม้กระทบกับเขาด้วย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนในประเทศยากจน(เอาเปรียบกันเองในประเทศ และยอมให้ต่างชาติเอาเปรียบด้วย) ไม่ค่อยสนใจเรื่องสำคัญ เรื่องที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง

การปฏิรูปประเทศไทย ควรหยิบเอาประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเอื้ออำนวยให้แก่ธนาคารเป็นอย่างมาก

ดีใจที่มีหนานวิทูรย์กรุณานำร่อง อย่างน้อยก็ปิดประกาศให้พวกเราได้ดูกัน

สามชาย

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เก็บจากเวที

รองนายก อบต. บ้านกาศ ถามนักวิชาการ ว่ามีการวิจัยไหมว่า ค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ลงทุนในการศึกษาของบุตร ถ้าเรียนจบแล้ว ไม่มีงานทำ จะคืนเงินทุนอย่างไร ไม่ยักกะถามต่อว่า แล้วถ้าไม่เรียนในระบบพ่อแม่จะมีอยู่มีกินกว่าเก่ามั้ย?)


พื้นที่ปรับเป็นช่วงพระนอนใต้ ต่อไปประตูมาน (เกิดแกนใหม่ๆ) คราวก่อน มีคนเปรยว่า อยากทำแบบไม่ใช้งบประมาณ เพราะเข้าใจว่าช่วงแรก ๆ ต้องใช้งบประมาณจากหลายหน่วยงานในการทำงาน


สภา วธ ในเวียง จัดนั่งโตก ถ่ายรูป

ก้อย
งานศิลปะของเด็กพิเศษ ออทิสติก เพื่อนำไปสู่ โฮมสคูล ขอจัดที่วิทยาลัยชุมชน

งานหม้อห้อม ช่วยคน มีวิธีชนกับตลาด รับงานอย่างมีเงื่อนไข เชื่อมโยงกับ อ. สราวุธ ครามและฝ้ายก่อนปั่น ฝ้ายปั่นมือ ใช้ห้อมเปียกวันละ ๕ กก. ทุกวัน ปัญหาตอนนี้คือ มะขามเปรี้ยวแพง

บี ปัญญาชนกับการทำนา ที่บ้านดอนดี ๗ ไร่ ทำอะไรได้เยอะแยะ ผ่านมาได้ ๒ ปีแล้ว

ปาย สนใจติดตามข้อมูลเครือญาติเจ้าหลวง จาก ๒ ผู้รู้ ครูบัวผิว และ อาจารย์ดวงแก้ว
มีคนรุ่นใหม่อีกหลายคน

กาสะลอง ลองเขียนโครงการ ขอจาก อ.หนุ่ย เพื่อทำ โปสเตอร์ ปกซีดี

เด็กวัยรุ่นมาเดินในงานเยอะ

ทีมงานของนายนิ่ม หายไปไหน?

งานอวดเก่า
ภาพวีดีโอในมุมมองของไอซ์เรดิโอ เพื่อ สนง วธ (จึงไม่มีภาพของภาคประชาชน หรือ ภาพเบื้องหลังการทำงาน)
ไม่เห็น "แพร่" อยู่ในวิดีโอ แต่ก็รู้ว่าเป็นประเทศไทย
พี่รันว่า น่าจะมีสัก ๕ วัน

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องหยิบมา จากการนั่งคุยในที่ต่าง ๆ

(ฝากมาจาก คุณชัยรัตน์ ฤตวิรุฬ)


1. เขตขยายการสอนร้องกวางของ ม.แม่โจ้ฯ เชียงใหม่ เมื่อไหร่จะเป็น ม.แพร่ มหาวิทยาลัยแพร่อย่างเต็มภาคภูมิ

2. โอกาสไหนที่คนรักษาป่า จะได้เงินทองจากเรื่องคาร์บอนด์เครดิต

3. ถ้าเมืองแพร่จะเชื่อมต่อโครงการปิดทองหลังพระ จ.น่าน ขอเสนอพื้นที่บ้านน้ำแรม ซึ่งบริบทจะคล้ายกันมากกับดอยตุง



(ประเด็นจากคุณสมาน ผูกพันธ์)

4. กำลังมีการดำเนินการสำรวจน้ำมันในพื้นที่ตำบลทุ่งกวาว คนแพร่ใครรู้บ้าง

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

กาดกองเก่าปีที่ 2

หลังจากยื้อกันมานานตลอดหน้าฝน ..ในที่สุดคณะกรรมการบริหาร(มีสักกี่คนกันนะ...)ขอสรุปเป้นข้อตกลงในการจัด กิจกรรมเอาไว้ให้อ่านกันดังนี้นะครับ

งานแอ่วกาดกองเก่าเกิดขึ้นจาการร่วมมือของพ่อ แม่ พี่ น้องในชุมชนทั้งในและนอกเขตเทศบาล ไม่ได้มีใครคนหนึ่งคนใดเปนเจ้าของแต่เราเป็นเจ้าของร่วมกันทั้งหมด ตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกว่างเป็นพื้นที่เปิดในการพูดคุย ปรึกษา หารือ ค้าขาย เพื่อส่งเสริมการกระจายสินค้า และเพิ่มมูลค่า รายได้ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน และส่งเสริมเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของท้องถิ่นบ้านเฮาเมืองแป้

ความอยู่รอดของงานแอ่วกาดกองเก่า ขึ้นอยู่กับ พ่อค้า แม่ค้า ตลอดจนลูกค้าที่มาอุดหนุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างจุดขายและให้เกิดความแตกต่างจากกาดอื่นๆ เมืองแป้มีกาดสามวัย ทุกวันศุกร์(ขายอาหารมีดนตรีฟังด้วยโดยเทศบาลจัด) กาดคลองถมทุกอังคารและถนนคนเดินทุกอาทิตย์แรกของเดือน สองที่หลังนี้ขายสูนอิสูนอะ สะปะ๊สะเป๊ด ดังนั้นเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ (สำคัญมาก)นอกจากสถานที่แล้วเราจึงขอความร่วมมือต่างๆ ดังนี้เน้อ

ประเภทของสินค้าที่สามารถนำมาวางจำหน่ายในงานแอ่วกาดกองเก่า

*** พืช ผัก ข้าว เห็ด ผลิตผลทางการเกษตร เน้น เกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี (จะมีกรรมการไปตรวจสอบถึงที่เลย)

*** ผลิตภัณฑ์ที่ทำเองหรือมาจากแหล่งผลิตในชุมชนเมืองแป้หรือพื้นที่ใกล้เคียง

*** ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรือผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ อาจจะเป็นของทันสมัยก็ได้เช่น เสื้อยืดพิมพ์ลาย ชวนแอ่วแป้ โปสการ์ด ภาพเขียน งานหัตถกรรม ซองใส่มือถือทำจากผ้าหม้อฮ่อม หรือผ้าย้อมธรรมชาติ ฯลฯ

*** สินค้ามือสองที่ยังใช้ได้ หรือสินค้าเก่าเก็บ เอามาเลหลังลดราคา (เสื้อ กางเกงที่เคยใส่แต่เบื่อแล้ว) หนังสือ วิทยุ นาฬิกา ของเก่าคลาสิค (ขอยกเว้นว่าไม่ใช่เอามาจากตลาดมือสองเหมือนตลาดคลองถม)

*** ไม่ควรเป็นสินค้าจากแหล่งผลิตที่มีขายทั่วไป เช่น น้ำอัดลม ไอติมวอลล์ เนสเล่ย์ ยกเว้นว่าเป็นผู้ที่มีบ้านอยู่ในบริเวณงานและจำหน่ายเป็นประจำอยู่แล้วใน พื้นที่

*** สินค้าผิดกฎหมาย ของขโมยมา เหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาเสพติด ไม่อนุญาตให้เอาเข้ามาขายนะครับ (ยาดองก่บ่ได้หนา)

ข้อจำเป็นปฏิบัติ

1.รถยนต์ ยานพาหนะทุกชนิดให้จอดด้านนอกงาน รถขนของเข้ามาขนได้ก่อนและหลังเวลางาน

2.ผู้ ค้าทุกท่าน ควรแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองให้สุภาพเรียบร้อย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น โสร่ง ผ้าหม้อฮ่อม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นเอกลักษณ์ที่ควรภาคภูมิใจในอารยธรรมลานนาของ หมู่เฮา

3.ร้านค้าแต่ละร้านควรมีอุปกรณ์อำนวยแสงสว่างและอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆมาด้วย (สามารถขอใช้ไฟกับบ้านในกาดตามแต่ตกลงกัน)

4.ร้าน ค้าควรช่วยกันดูแล ทำความสะอาด ความเรียบร้อยในบริเวณความรับผิดชอบของตัวเอง (ไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล เราต้องช่วยกันดูแลให้พื้นที่สะอาดงามตาเสมอนะครับ)

5.เจ้าของร้านสามารถตบแต่งร้านของตัวเองได้ตามสมควร เพื่อเป้นจุดสนใจและเป็นสีสันของงาน

6.ร้านค้าแต่ละร้านอนุญาตให้มีพื้นที่ขายไม่เกิน 4 ตรม.( 2 x 2 เมตร) และเปิดพื้นที่ ทางเข้า-ออกให้เจ้าของบ้านด้วย

7.ภาชนะบรรจุ อาหาร-เครื่องดื่ม ควรเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เยาวชนและสังคม

8.อาจจะมีขอรับบริจาคในการจัดกิจกรรมตามสมควร ไม่เกิน 50 บาท/ร้าน เพื่อการประชาสัมพันธ์ เครื่องเสียง ความปลอดภัย

9.กิจกรรมร่วมที่สนใจมาแสดง เช่น ดนตรีพื้นเมือง บีบอยด์ วาดภาพระบายสี ฯลฯ เข้ามาร่วมได้แต่ต้องจัดสรรงบประมาณมาเอง

การจัดงานจะมีทุกวันเสาร์ เวลาบ่ายสามโมงถึงสองทุ่ม ตั้งแต่สี่แยกพระนอนเหนือถึงแยกประตูมาน

เริ่มวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2554 นี้เป็นต้นไป

ติดต่อประสานงานที่ คุณตุ๊กแก 087 5447460 หรือ ชิน 081 347 5342

ตำบลในเวียง เดินเรื่องชวนกันตั้งสภาองค์กรชุมชน

ขออนุญาตท่านทั้งหลายที่จะบันทึกไว้ในนี้

จากวันที่ทำสัญญากับ พอช. คณะกรรมการโครงการ "ชวนกันตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในเวียง" ได้พบปะกันหลายรอบ
รอบละ 2 คน 3 คน 5 คน วันนี้ 15 คน

เกิดค่าใช้จ่ายจริง ๆ คือวันนี้ แต่ก็ต้องเบิกของวันอื่น ๆ ย้อนหลัง เพราะเพิ่งเบิกจากบัญชีในวันนี้

ไม่ได้นับที่เจอกันในงานอื่น ๆ ซึ่งก็มีผลในการพูดคุยวันนี้เหมือนกัน



วันนี้ข้าพเจ้าไปถึงที่ประชุม 10 โมงตรง เรานัดกันที่บ้านประธานชุมชนทุ่งต้อม พี่จีระพันธุ์ จันทร์ดี เตรียมโต๊ะเก้าอี้ไว้พร้อมมสำหรับคน 25 คน มีคนมารอแล้ว 1 ข้าพเจ้ากางขาตั้งบอร์ด เขียนไว้ 1 แผ่นติดฝา

พอมากันได้ 6 คน ก็พูดคุยกันอย่าง เบรคไม่อยู่ หยอกล้อ เย้าแหย่กันอหอมปากหอมคอ
แต่ละคนมีประสบการณ์ออกมาเล่าได้อย่างสนุกสนาน

ถ้าฟังดี ๆ ข้อด้อยของตัวแทนกลุ่มหนึ่งนั้นจะพบคำตอบในกลุ่มถัดไป

เป็นเราเองที่ไม่สามารถเขียน จับเวทีให้รื่นไหล แต่ที่สุดแล้วก็ให้กรอกข้อมูลไว้ก่อน

ที่น่าสนใจคือ แกนนำบางคนบอกว่า

1.เวทีให้แสดงความคิดโดยอิสระแบบนี้หาได้ยากในที่ประชุมอืื่น ๆ เพราะต้องรับโดยดี ไม่มีบรรยากาศเอื้อให้แถลงค้านหรือเสนอความเห็นที่แตกต่าง
2. อยากรวมกลุ่มแกนนำเพื่่อแสดงความเข้มแข็ง เพื่อนำเสนอประเด็นที่ต่างจากฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหาร รวมทั้งทวงสิทธิ์ที่จะได้สวัสดิการ ได้ทรัพยากรมาจัดการอย่างสะดวกมากขึ้นในการบริการชุมชน
3. ซึ่งแท้จริงแล้ว แกนนำหลายคนก็ระลึกไม่ได้ว่า เขามีสิทธิ์นั้นมาพร้อมกับงบประมาณแล้ว แต่มองไม่เห็นเอง

แต่วันนี้กลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มนักมวยเก่า ที่เข้มแข็งมากๆ

เขามีการตั้งกลุ่มมาหลายปีแล้ว มีการจัดสวัสดิการให้เพื่อนสมาชิก รวมทั้งการเยี่ยมเยือนยามป่วยไข้ หรือ เสียชีวิต
สมาชิกบางคนเคยต่อยกันบนเวทีมาแล้ว ถึง 5 เวทีก็มี ตอนมาเลี้ยงสังสรรค์กัน ก็ยังเคยชวนกัน "มึงมาเอากับกูแหมสักรอบก๊ะ?"

ปัจจุบันนี้มีค่ายมวยในจังหวัดแพร่มากเกิน 20 ค่าย แต่ไม่มีสนามในจังหวัดให้นักมวยได้เจอกัน ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีงานวัด งานลอยกระทง การละเล่นอย่างหนึ่ง (หรือเรียกว่า มหรสพ?) ก็คือมวย บางงานต่อยเป็น 2 รอบด้วยซ้ำ ก่อนทุ่ม กับหลังสองทุ่ม

ไม่แน่นะ ในปลายเดือนตุลาคม 2554 นี้ มีงานศพอดีตเจ้าอาวาสวัดพระร่วง อาจมีมวยย้อนยุคให้คนแพร่ได้ชมกันมั่งก็ได้

จำนวนสมาชิกของชมรมตอนนี้มี ประมาณ 100 คน คนที่มาเข้าร่วมนั้นอย่างน้อยก็ออกจากอาชีพนักมวยมาแล้ว 20 ปี คนที่เลิกต่อยมวยใหม่ ๆ มักจะมองผ่านชมรม กว่าจะเห็นประโยชน์ารรวมกลุ่มก็เข้าสู่วัยกลางคนล่วงไปแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ดร.รุ่ง ประชาสังคม เมืองใต้ ว่าไว้ มีอะไรเหมือนของเราบ้าง


ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่วันนี้ตัดสินใจผันตัวเองมาทำงานประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะว่าเป็นโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชน หรือโครงการพัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อสันติสุข ผ่านทางมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งถือเป็นช่วงแรกๆ ที่ไฟใต้กลับมาลุกลามครั้งใหญ่ จนยากจะดับไหวอย่างในปัจจุบันนี้

เหตุใดปัญหาเรื่องภาคใต้ในช่วงนี้ถึงกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาภาคใต้นั้นมันขึ้นๆ ลงๆ แล้วพอมาถึงช่วงนี้ก็มักจะรุนแรงมากขึ้นเสมอ เพราะตอนนี้ไม่มีใครทำงานอยู่ในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้งหมด ทุกคนเขาวิ่งหาตำแหน่งกันหมดไง ฉะนั้นมันก็เลยเป็นช่องว่าง เหลือแต่ข้าราชการเด็กๆ ซึ่งบางครั้งก็เผอเรอบ้าง...เป็นแบบนี้ทุกปี

แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจไปว่า เพราะต้องการของบเพิ่ม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่หรอก ลองไปดูก็ได้ ช่วงนี้ผู้ใหญ่ทั้งหมดไปอยู่ที่กรุงเทพฯ กัน แล้วก็วิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจกันหูดับตับไหม้ทุกคน เนื่องจากทุกคนอยากลงมาอยู่ที่นี่ เพราะอยู่ตรงนี้ก็จะได้ผลประโยชน์ อย่างเวลางานก็จะทวีคูณ อาวุโสก็จะแซงขึ้น ใครๆ ก็เลยอยากจะลงมา แต่พอถึงช่วงโยกย้าย มันต้องขึ้นไปวิ่งที่กรุงเทพฯ ไง นี่คือเหตุผลที่ทำให้ช่วงนี้เกิดความรุนแรงมากขึ้นเป็นพิเศษ

ถ้าเป็นปัญหาแบบนี้ก็คงแก้ยาก เพราะถึงอย่างไรก็คงหลีกเลี่ยงเรื่องโยกย้ายไม่ได้อยู่แล้ว

มันเป็นความผิดพลาดของเรา ที่มุ่งให้ราชการเป็นคนแก้อยู่ฝ่ายเดียว เพราะราชการนั้นมีคนเยอะ ทรัพยากรเยอะ แต่จุดอ่อนคือเราไม่เคยนิ่ง คนจะมาอยู่นิดเดียวเอง เพื่อหาตำแหน่ง เสร็จแล้วก็ย้ายกลับไป เพราะฉะนั้นงานทั้งหลายก็เลยเกิดปัญหาคือ หนึ่ง-งานไม่ต่อเนื่องเลย สอง-คือด้วยความที่เขาแก่งแย่งชิงดีกัน ฐานข้อมูลของคนที่มาก่อน จะไม่ให้คนหลังเลย ปัญหามันก็เลยเกิดซ้ำซากแบบนี้แหละ แล้วเวลาที่รัฐบาลจะทำอะไรก็จะนึกแต่ทางราชการ เพราะเขาไม่ไว้ใจคนที่นี่ เนื่องจากเขาไม่ได้มองว่าเป็นคนไทย แล้วก็จะรู้สึกว่าคนพวกนี้ไม่จงรักภักดี ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่มีความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนมีไม่ถึง 5,000 คนมั้ง

ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ใช่ 5,000 คนจาก 1.6 ล้านคน แต่เขาก็ไม่ไว้ใจอยู่ดี ก็เลยพึ่งแต่ราชการ ซึ่งไม่เคยนิ่ง อย่างแม่ทัพภาค 4 อยู่ที่นั่นก็ทำงานปีเดียวก็ขึ้นพลเอกแล้ว เพราะฉะนั้นตราบใดที่เราพึ่งแต่ระบบแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้หรอก

ผมว่าสิ่งสำคัญที่ราชการต้องทำตอนนี้ก็คือ 'คิดใหม่' ซึ่งแบบนี้มันยากที่คนกรุงเทพฯ จะทำความเข้าใจ โดยเราต้องคิดว่า คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ คนไทย เขาอยู่ที่นี่มานานแล้ว ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์บ้างแต่เขาก็คือคนไทย เขาก็รักในหลวงนี่แหละ เพียงแต่ว่า ถ้าเราไว้ใจเขา ให้เขาทำงาน เขาก็ไม่แยกไปไหนหรอก แล้วแม้แต่พวกมาเลเซีย เขาก็ไม่ชื่นชมก็คนมุสลิม 3 จังหวัดนะ อย่างผมพาคนมุสลิมออกไปมาเลเซีย ซึ่งถ้าอยู่ที่นี่เราเรียกเขาว่าคนมลายู แต่พอไปถึงด่าน เขาก็ไปแนะนำตัวว่าเป็นคนมลายู ยื่นพาสปอร์ตไปให้ ด่านบอกโนๆๆๆ คนไทย คนสยาม ฉะนั้นเขาไม่ยอมรับอะไรเลย แต่เราไปหวาดระแวงเอง

แล้วภาคประชาสังคมล่ะไม่มีบทบาทอะไรบ้างเลยหรือ

ที่นี่ถือว่าอ่อนแอมากเลยนะ โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับภาคอื่นๆ มูลนิธิที่ทำงานจริงๆ จังๆ เกือบไม่มีเลย ตอนนี้มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ถือว่าเป็นมูลนิธิที่ใหญ่ที่สุดในการทำกิจกรรม เพราะมูลนิธิอื่นจากกรุงเทพฯ เขาลงมา แต่มาชั่วคราว มาจัดสัมมนาแล้วก็กลับขึ้นมา หรือไม่ลงมาแล้วก็ถามๆๆ เซ็นชื่อกลับไปเลย ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ มันก็เลยอ่อนแอไปโดยปริยาย

สรุปก็เป็นแบบเดียวกับระบบราชการที่มาแล้วก็ไป

ใช่...แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ถึงอย่างไรระบบราชการก็จำเป็น แต่ในภาวะวิกฤตมันต้องลดบทบาท แล้วพุ่งตรงไปที่ภาคประชาสังคม ตัวอย่างเช่นตอนนี้จะมีกองทุนผู้หญิงเกิดขึ้น ซึ่งควรจะต้องพุ่งตรงไปที่กลุ่มผู้หญิงเลย แล้วจะได้อะไรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าลงไปแล้วยังไปขึ้นกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มันก็เหมือนเดิมอีกนั่นแหละ ค่าหัวคิว ร้อยแปดไปหมด แต่เชื่อเถอะทำยาก เพราะเอาแค่เคารพสิทธิชองเรา ไม่รังแกเรา ไม่จับลูกหลานเราไปเขาตาราง แค่นี้ส่วนกลางก็รับไม่ได้แล้ว คือเขาพูดได้ แต่พฤติกรรมที่ทำ...ไม่ใช่เลย

อย่างนี้บทบาทของราชการที่ควรจะลดไป มันน่าจะไปอยู่ที่ระดับไหน

ถ้าเรื่องทหารไม่ต้องไปลด เพราะเขาไม่ลดแน่นอน แต่ภาคราชการที่เกี่ยวกับการบริการทั้งหลาย โดยเฉพาะงานเกษตร ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 8 ปี มีคนมหาศาลเลยที่ลงมา แต่ปรากฏว่าพอลงไปแล้ว ราชการเราไม่มีความรู้หรือความชำนาญอะไรเลย เพราะเขาไม่เคยทำ ตอนเรียนมาก็เรียนเกษตรจริง แต่ก็งูๆ ปลาๆ ดังนั้นถ้าต้องการทำจริง ก็ควรเอาบริษัทเกษตรที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ขอเป็นซีเอสอาร์ อย่ามุ่งมาหาผลประโยชน์ เอามาเลย เช่นที่มาเลเซียต้องการไก่มหาศาล แค่นี้ก็ทำโครงการเลี้ยงไก่ได้ทุกหมู่บ้านเลย แล้วส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเลี้ยงกันทุกแห่ง ซึ่งพอเลี้ยงไก่ก็จะมีภาระมากขึ้น แทนที่จะไปมั่วสุมก็น้อยลง เวลาที่จะทำอะไรออกนอกลู่นอกทางก็ไม่มี เพราะเขานึกถึงอาชีพของเขา แต่ถ้าเป็นราชการทำส่งแค่ 3 เดือนก็เลิกแล้ว

แสดงว่า ตอนนี้เยาวชนที่นั่นก็มีเวลาว่างมากเลย

ถูกต้อง เพราะเขาเป็นเด็กผู้ชายนะ แล้วจบแค่ ป.6 ก็ไม่เรียนหนังสือแล้ว พอไม่เรียนก็ว่าง แล้วพอไปนั่งคุยกันก็เหมือนชาวไทยพุทธกรุงเทพฯ นี่แหละ ถามว่าทำอะไร ตอนแรกก็เรื่องเล็กๆ ก่อน จากนั้นก็ต่อไปที่อันอื่นๆ ฉะนั้นเรื่องอาชีพถึงสำคัญ แต่ต้องใช้มืออาชีพไม่ใช่ราชการ เพราะราชการเราทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีที่ไหนหรอกที่ยังชีพด้วยการประกอบการ เราเรียนมาก็งูๆ ปลาๆ ผมมีตัวอย่างที่เห็นชัดๆ อยู่เรื่อง ครั้งหนึ่งผมเคยทำโครงการเรื่องแพะที่นี่ ผมก็ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบด็อกเตอร์เรื่องแพะมา ปรากฏว่าแกไม่เคยเลี้ยงแพะ แกอ่านแต่หนังสือแพะ พอมารุ่น 2 เราก็เอาวิทยากรเป็นคนเลี้ยงแพะมาเลย ปรากฏว่าเขาชอบมากเลย เพราะถามอะไร ตอบได้หมด เพราะเขารู้จริง

เช่นเดียวกับเรื่องสังคมก็เหมือนกัน ก็ต้องให้ภาคประชาสังคมทำ อย่างเรื่องเด็ก สตรี ต้องปล่อยเขาเลย ของมูลนิธิเราปล่อย ทำเอาคิดเอง อาจจะมีคอร์รัปชันบ้าง แต่คิดแล้วเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าราชการ หรือแม้แต่งานยุติธรรมก็ส่งเสริมชมรมทนายมุสลิมขึ้นมา ให้เขามาช่วย เพราะเขาก็พูดภาษาเดียวกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าแก้ปัญหาได้ ก็ต้องมีภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามาช่วย ถ้าทำแบบตั้งอกตั้งใจใช้เวลาไม่นานหรอก แค่ 3-4 ปีก็เรียบร้อย

ส่วนราชการก็ถอยมาทำแต่เรื่องนโยบาย อย่าลงปฏิบัติ เพราะลงจริงก็ไม่กล้า ลงไปก็กลัว สังเกตดูก็ได้เวลานายกรัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ลงพื้นที่ครั้งหนึ่ง มาเป็นร้อยเลย ทั้งทหาร ตำรวจ อส. (กองอาสารักษาดินแดน) คุ้มกันเต็มไปหมด

แล้วเรื่องระบบการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนามากขึ้นกว่านี้ไหม เพราะดูเหมือนเด็กที่นี่จะจบในวุฒิที่ไม่สูงเท่าใดนัก

มีผลเยอะเลย เพราะระบบการศึกษาเรานั้นไม่เอื้อต่อความต้องการ บางอย่างก็ขัดต่อหลักศาสนา แต่ผมว่าตอนนี้มันเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะเริ่มมีการปรับกันมากขึ้นแล้ว

แต่ก็มีบางคนวิตกว่า การศึกษานั้นเป็นบ่อเกิดชองแนวคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดน

ผมคิดว่ามันเพียงแค่สีสันเท่านั้นแหละ เพราะคนที่มีแนวคิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะไปเรียนต่างประเทศอีกที เป็นอียิปต์รุ่นแรกๆ ตอนยุคที่รัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนหลังก็มาจากปากีสถาน เรื่องพวกนี้เป็นสีสันทั้งนั้นแหละ มุสลิมเองก็มีหลายสาย ทั้งสายรุนแรงก็มี ซ้ายจัดก็มีเหมือนอิรัก อิหร่าน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปให้ความสำคัญ เอาเวลามานั่งคุยกันดีกว่า เอามาแลกกัน ไม่ใช่พอเสียงต่างก็จับทันที

หากคนส่วนกลางเปิดใจและราชการถอยออกมามากกว่านี้ แล้วในพื้นที่ล่ะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ผมเชื่อว่า ถ้าเราเปิดโอกาส มันจะเกิดขึ้นเอง แต่ตอนนี้ไม่เปิดโอกาส มันเหมือนมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ต้นคือ ‘ต้นราชการ’ ต้นอื่นก็งอกไม่ได้ เพราะแดดไม่ลง จริงๆ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องไปวางแผนอะไรมาก มันก็คล้ายๆ กับที่ในหลวงรับสั่งว่า อย่าวางแผนที่จะปลูกป่า แค่ไม่โคนป่าก็พอแล้ว แต่ราชการเอะอะก็จะปลูกป่าเรื่อย ปลูกทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เป็นป่า เพราะไปถางป่าเก่าแล้วไปปลูก ปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าเรายอมรับได้แค่นี้ก็จบแล้ว
>>>>>>>>>>>>

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

นาตอง

ขุดลอกได้เพียง 2 เดือน น้ำมา หินทรายมูลเหมือนเดิม เป็นเพราะการขุด หรือ เครื่องมือ หรือ ธรรมชาติ


น้ำมาก เผาไร่ไม่ได้ ปลูกดิบ ๆ เพราะฉะนั้น ข้าวไร่ปีนี้จะได้น้อย อาจต้องเก็บเป็นพันธุ์ แล้วเบิก/ซื้อจากธนาคารข้าวมากิน

ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔


ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔

ความคิดแรกเริ่มในการทำงานอนุรักษ์เฮือนไม้สักในเมืองแพร่นั้น เพียงเพราะว่ากระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เริ่มจะเป็นที่นิยม อีกอย่างหนึ่งเสน่ห์ของเมืองแพร่ที่ทำให้ดูเป็นเอกลักษณ์คือเฮือนไม้สักที่มีอยู่อย่างมากมายในตัวเมืองแพร่มีตั้งแต่บ้านของเจ้านายในอดีต เฮือนห้องแถวร้านค้า เฮือนของชาวบ้านธรรมดา ที่ได้รับการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของ สล่าชาวเมืองแพร่

เพราะในอดีตไม้สักเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป หาได้ไม่ยาก เมื่อไม่มีเจ้านายปกครอง(พ.ศ.๒๔๔๕) ชาวเมืองแพร่จึงสามารถนำไม้สักมาปลูกเฮือนกัน จนเหลือให้เห็นกันอย่างทุกวันนี้

จากการพูดคุยกันกับข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ( คุณประสาท ประเทศรัตน์, คุณสุนันท์ธนา ชมภูมิ่ง แสนประเสิรฐ คุณวุฒิไกร ผาทอง และ คุณสหยศ วงศ์บุรี ) โดยมีอาจารย์สิริกร ไชยมา เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการฯ จึงนำมาสู่การก่อตั้งชมรมฯ และมีกิจกรรม “ผ่อบ้านแอ่วเมือง” จำนวน ๗ ครั้งแบบจำลองบ้านไม้อีกสามหลัง โดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองแพร่ ผ่านชุมชนพงษ์สุนันท์ ในปี ๒๕๕๐


หลังจากนั้นก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมทั้งหลาย มาจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของเฮือนไม้สักและลูกหลานเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่ แสดงอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ถึงกระนั้นก็ตามแม้จะพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยได้ลงไปสำรวจพูดคุย ให้กำลังใจโดยมีการมอบ”ธงไจย” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับเฮือนไม้ที่มีอายุห้าสิบปีขึ้นไปและมีเอกลักษณ์ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการรื้อถอนเฮือนไม้สักที่มีมูลค่าสูงทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นที่ถูกขายไปในราคาหลักแสนต้นๆ ได้ เพราะไม้สักเก่านั้นมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและเป็นที่ต้องการของตลาด


การทำงานได้ขยายขอบเขตมากขึ้นจากการที่จะอนุรักษ์เพียงตัวเฮือนไม้ เริ่มทำกิจกรรมเชิงเสวนาเพื่อให้ได้ใกล้ชิดและลงลึกกับชุมชนมากขึ้น โดยใช้ประเด็นประวัติศาสตร์และจิตสำนึกมาเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น กิจกรรมฉายหนัง”พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งเป็นหนังไทยขาวดำที่ถ่ายทำเมื่อปี ๒๔๘๒ โดย นายปรีดี พนมยงค์(รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในยุคนั้น)นำกองถ่ายมาที่เมืองแพร่ มีนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์(อดีตสส.แพร่คนแรกและเสรีไทย)เป็นผู้ให้การช่วยเหลือในการถ่ายทำฉากรบที่บ้านป่าแดง โดยมีการนำช้าง ม้า และชาวเมืองแพร่ร่วมเข้าฉากอย่างมากมาย กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่ คุ้มวิชัยราชาบ้านเดิมของนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์
ตัวแทนของชมรมฯได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานมากมายได้แก่ เทศบาลเมืองแพร่ สนง.วัฒนธรรมและสภาวัฒนธรรมแพร่ อบจ.แพร่ สมัชชาคนแพร่ กศน.แพร่(การแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนกับสหรัฐอเมริกา และการซ่อมบ้านมิชชั่นนารีอายุร้อยกว่าปี ในพื้นที่ของ กศน.แพร่) ชุมชนต่างๆในเขตเทศบาล นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ บางกอกฟอรั่ม จัดเสวนา “ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต”ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายจาก กรุงเทพฯ เชียงใหม่และน่าน มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมให้คำชี้แนะ (๒๕๕๒) และในปีเดียวกันทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาได้มอบทุนเพื่อทำหนังสือ “ผ่อบ้าน หันเมือง” ผ่านทาง ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ : สปาฟา

ร่วมกับการเคหะฯ สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาคชุมชนเมืองแพร่ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อสร้างแนวทางไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและการอยู่อาศัยแบบบูรณาการ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชุมชนที่ควรค่าแก่การฟื้นฟู ส่งเสริมเอกลักษณ์พื้นที่
การทำงานของชมรมฯ ได้ขยายขอบเขตการทำงานไปในเชิงให้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กับการทำงานเชิงอนุรักษ์มากขึ้นในปี ๒๕๕๓ โดยมีหน่วยงานทางสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาจึงได้เข้าร่วมโครงการเมืองแพร่ เมืองแห่งความสุข จัดกิจกรรม “แอ่วกาดกองเก่า” เพื่อเป็นพื้นที่แนวรุกเชิงวัฒนธรรม โดยนำเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่นๆ เข้ามาร่วม เช่น พอช. กลุ่มโฉนดชุมชน สถาบันปุ๋มผญา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่พบปะพูดคุยของประชาชนในละแวกตัวเมืองเก่า เป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของเยาวชนและเข้าร่วมจัดงานฤดูหนาวปลอดเหล้าเมื่อต้นปี ๒๕๕๔

และได้ร่วมกับโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนและสปาฟาจัดทำแผนอนุรักษ์อาคารเก่าของโรงพยาบาลเพื่อจัดทำเป็นอาคารนิทรรศการ



การทำงานของชมรมฯในแต่ละกิจกรรมคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมมุ่งหวังเพื่อสร้างความเข้าใจ ความเคารพต่อพื้นที่โบราณสถาน จึงได้จัดรื้อฟื้นประเพณีสุมมาเมฆ ประตูเมืองและดำหัวเจ้านายเมืองแพร่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคลกับชาวแพร่ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีโดยเริ่มในปี ๒๕๕๔ เป็นปีแรก หวังให้เป็นการจุดประกาย สร้างจิตสำนึกและรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวแพร่ที่ได้สร้างบ้านแปงเมือง และปกป้องให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขดังปัจจุบัน



แผนงานของขมรมฯ หวังให้มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมร่วมไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับบริบทและสังคมเมืองแพร่

ให้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมและเอื้อต่อการอนุรักษ์
เร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวเมืองแพร่เห็นคุณค่าในโบราณสถาน โบราณวัตถุซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมรดกของชาวแพร่ยังเป็นมรดกของชาติ
การจัดให้มีการวางแผนการติดป้ายโฆษณาในตัวเมืองเก่าเมืองแพร่อย่างเป็นระเบียบสวยงาม
มีการจัดการขนส่งสาธารณะและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางศิลปวัฒนธรรมน้อยที่สุด
การจำกัดการคมนาคมขนส่งและการก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้เข้ามารบกวนพื้นที่อนุรักษ์
สร้างจิตสำนึกให้เยาวชนให้เข้าใจรักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้ต่อไป
จัดทำสื่อเพื่อกระตุ้นและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมของเมืองแพร่ในรูปแบบต่างๆเช่น หนังสือ แผนที่ท่องเที่ยว เกม สื่ออินเตอร์เนต

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เกษตรยั่งยืนเมืองแพร่

การอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรยั่งยืนจังหวัดแพร่
…………………………………………………………………………………………………
ความเป็นมา
เครือข่ายเกษตรยั่งยืนจังหวัดแพร่ เป็นองค์กรชาวนาที่ต้องการปฏิรูประบบการทำนาของชาวนา ที่ถูกทำลายวิถีชีวิตของชาวนา และวัฒนธรรมการผลิตข้าว จนขาดความมั่นใจที่จะพึ่งตนเองจึงต้องพึ่งพาจากระบบเกษตรที่ใช้แต่พันธุ์ข้าวลูกผสมมาตลอด เกิดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง อันเนื่องมาจากปัจจัยการผลิต ด้านเมล็ดพันธุ์ พลังงาน ต้นทุนปุ๋ย ยา แรงงาน และฐานทรัพยากรอาหารลดลง ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรไม่ค่อยจะดีนัก แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไม่แน่ว่าจะส่งผลประโยชน์กลับมาที่ชาวนา รวมทั้งราคาอาหารที่แพงขึ้นก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง และส่งผลลบต่อคนจน ส่งผลกระทบต่อระบบพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เป็นการผลิตเพื่อการตลาดมาโดยตลอดไม่ได้เน้นผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร การใช้สารเคมีก็ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของชาวนาเอง ผู้บริโภค ระบบนิเวศของธรรมชาติ และระบบสาธารณสุข เป็นการสูญเสียเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมากมายทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงกระแส แต่เป็นสิ่งที่ทำให้หน่วยงานองค์กรทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เกิดความตระหนักเพื่อการผลิตซ้ำทางด้านความคิดในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทางเครือข่ายเกษตรยั่งยืน จึงได้ทำงาน ภายใต้แผนการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาวะ เป็นการสร้างกระบวนการคิดในการเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ให้มีอาหารที่ปลอดภัย อีกแนวทางหนึ่งในการผลิตซ้ำทางความคิดและสร้างความตระหนักให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้บริโภค ในเรื่องผลกระทบของสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาวะ ที่สามารถเป็นทางออกที่ดีให้กับสังคม และชาวนาได้เป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวได้ในสภาพปัจจุบันอย่างยั่งยืน ต่อไป
นิยามความหมาย
“ระบบเกษตรยั่งยืน” หมายความว่า การผลิตทางการเกษตร ตามวิถีเกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีการผลิตอาหารที่มีคุณภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาองค์กรเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น นำสู่การพึ่งตนเองของเกษตรกร ชุมชน และสังคมไทย ทั้งในด้านปัจจัยการผลิต อาทิ ที่ดิน พันธุกรรม แหล่งน้ำ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา เงินทุน รวมถึงการจัดการผลผลิตการแจก แลก ขายหลายระดับหลายรูปแบบที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคมที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติโดยรวมอย่างยั่งยืน
ได้ดำเนินงานเมื่อ ปี 2552 เป็นต้นมา ภายใต้โครงการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสุขภาวะชุมชน ภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ในการดำเนินการ ดังนี้
-ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
-ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
-ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
-ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่
-ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
-ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
-ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่
-ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน คือ
1.เพื่อให้เกิดรูปธรรมการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงานครอบคลุมด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค
2.เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรยั่งยืน ที่สามารถพึ่งตนเองได้ในการบริหารจัดการ รวมทั้งการมีกลไกเชื่อมประสานกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อเกิดพลังร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านในพื้นที่
3.เพื่อให้เกิดการพัฒนายกระดับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน และการรณรงค์เผยแพร่สู่สาธารณะ
4.เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับพหุภาคีในกระบวนการจัดการความรู้หลากหลายรูปแบบ อันเป็นพลังทางสังคมในการทำงานเชิงนโยบายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผลที่ได้รับจากการทำงานที่ผ่านมา
1.เกิดเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน ที่มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่สนใจ ปรับเปลี่ยนแบบแผน การผลิตสู่ระบบเกษตรยั่งยืน
2.เกิดองค์ความรู้ และนำไปสู่กระบวนการจัดการความรู้ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน
3.เกิดการขยายผลการจัดการความรู้สู่พื้นที่รูปธรรมการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน ที่คำนึงถึงมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
4.เกิดการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนที่มีการดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค
5.เกิดความเข้มแข็งในเครือข่ายระดับพื้นที่ให้มีสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านเมล็ดพันธุ์ ในการบริหารจัดการ และการเชื่อมประสาน
6.เกิดกลไกการประสานงานจากการเชื่อมร้อยพหุภาคี เป็นพลังร่วมทางสังคมในการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน และการทำงานเชิงนโยบายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตัวชี้วัดผลสำเร็จของแผนงาน
1.เกิดการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน 30 สายพันธุ์
2.เกิดศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้การคัด เพาะ และขยาย พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
3.เกิดการขยายผลให้เกิดการตระหนักในการเรียนรู้การคัด เพาะ และขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน 200 คน บนหลักการพึ่งตนเองที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านเมล็ดพันธุ์ อาหาร รายได้ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
4.เกิดความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นของ องค์กร และเครือข่ายเกษตรยั่งยืน ที่สามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องการบริหารจัดการ
5.เกิดยุวเกษตรกรคนรุ่นใหม่สืบทอดภูมิปัญญาการดำนา และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
6.เกิดการเชื่อมร้อยภาคีหุ้นส่วน และเครือข่ายยุทธศาสตร์ ให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ให้ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค
6.เกิดแผนผลักดันนโยบายส่งเสริมสนับสนุน และการติดตามเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค ข้าวพื้นบ้านสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7.ชุดเอกสารเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาวะ


กลุ่มเป้าหมาย
1.เกษตรกรผู้สนใจทั่วไป
2.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลน้ำชำ
3.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลทุ่งแล้ง
4.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลสบสาย
5.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลเวียงต้า
6.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลร่องกาศ
7.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลบ่อเหล็กลอง
8.กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่รักถิ่นกำเนิดบ้านสบสาย
9.กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนกองทุนสวัสดิการตำบลสบสาย
10.กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นตำบลสบสาย
11.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลห้วยหม้าย
12.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลน้ำเลา
ภาคีความร่วมมือ
1.ศูนย์วิจัยข้าวแพร่
2.เกษตรอำเภอสูงเม่น
3.โรงเรียนบ้านสบสาย
4.สถานีอนามัยตำบลสบสาย
5.องค์การบริหารส่วนตำบลสบสาย
6.ประชาคมสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดแพร่
7.เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน
8.สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ (สปก.)
9.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสูงเม่น
10.เครือข่ายปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง (สปก.) จังหวัดแพร่

ข้อเสนอ
-ควรมีการบูรณาการกับกลุ่มงานในองค์กรภาคประชาสังคมแพร่ ?
-

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ดีดบ้าน (ความรู้จากปฏิบัติการ 1 หลัง)




อ่านแล้วสรุปได้เลยล่ะ

วิธีดำเนินการ
1. เข้าไปคุยกับเจ้าของบ้าน ถึงขอบเขตของการทำงาน อุปกรณ์ และ ค่าใช้จ่ายที่แต่ละฝ่ายต้องเตรียม มีแบบฟอร์มให้เติม เรียกอย่างน่ารักว่า "หนังสือเต็มใจให้ซ่อมบ้าน"
2. หาสล่า ปรึกษาเรื่องวิธีการ จำนวนคนที่ต้องใช้ ค่าแรงงาน นัดวัน
3. เตรียมอุปกรณ์คือ แม่แรง 5 ตัน 10 ตัน หรือ มากกว่า และ ไม้ค้ำยัน ไม้รองแม่แรง (หลายเล่ม แล้วแต่งาน)
4. เตรียมวัสดุปูน หิน ทราย น้ำ (ใช้กะบะคนปูน ไม่ต้องเลอะ ช่างมี)

5.ต่อไม้ค้้ำกับแม่แรงเพื่อยกเสา บากไม้ค้ำให้เข้ากับแวงบ้าน ตอกตาปูติดกับแวงกันไม้ค้ำหลุดถ้าแม่แรงล้ม
6.ยกได้ที่แล้วใช้ไม้อีกเล่มมาค้ำ ระวังเรื่องรองตีนไม้ กลัวจมดิน บางเสาต้องค้ำหลายเล่ม
7 ขุดรอบเสา ผสมปูนหินทราย เทรอบ
8.ถ้าจะให้ดี ต้องตัดตีนเสา ถ้าไม่ให้ขึดต้องถอกมาตัด จะตัดตอนตีนเสาลอยไม่ได้
9.มีแม่แรงมาก ไม้ค้ำมาก ทำหลายเสาได้

ในการทดลองครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าต้องใช้ค่าอะไรเท่าไหร่

ทำ "ใบเต็มใจซ่อมบ้าน" ให้เจ้าของบ้านเซ็น เพื่อให้รู้ว่าทางโครงการไม่ได้หวังอะไรโดยตรงจากเจ้าของบ้าน

กำลังพยายามเชื่อมโยงกลุ่มสวัสดิการในชุมชน


หนังสือเต็มใจซ่อมบ้าน

ข้าพเจ้า ( นาย / นาง / นางสาว )........................................................... อายุ ................ ปี
อยู่บ้านเลขที่ ............... หมู่ที่ ............. ตำบล .............................. อำเภอ. ...........................จังหวัดแพร่
ยินยอมให้ กองทุนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ช่วยเหลือซ่อมแซม บ้าน เลขที่ ............. หมู่ที่ ............. ตำบล ..................................... อำเภอ. ...........................จังหวัดแพร่ ของข้าพเจ้า เป็นหลังที่............................... ของการอนุรักษ์ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยืนนานต่อไป
โดยข้าพเจ้าผู้เป็นเจ้าของบ้านจะเป็นธุระ • จัดหาช่าง • จัดหาแรงงานผู้ช่วย • จัดหาอุปกรณ์ค้ำยัน • จัดหาแม่แรง • จัดหาวัสดุปูนซีเมนต์ • หิน • ทราย (ทำเครื่องหมาย  ในช่องที่ต้องการ ทั้งนี้จะเป็นไปตามสภาพบ้าน ความเดือดร้อน ฐานะเจ้าของบ้าน และ ฐานะทางการเงินของกองทุน ซึ่งแต่ละหลังจะไม่เหมือนกัน)
ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่ากองทุนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ เข้ามาช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเพื่อประโยชน์โดยตรงของข้าพเจ้า อย่างไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น และ เป็นการอนุรักษ์บ้านไม้เมืองแพร่ซึ่งเป็นหลักฐานถึงฝีมือพื้นบ้านที่มีอยู่ในเมืองแพร่ ให้อยู่ได้ต่อไปเพื่อคนรุ่นหลังศึกษาเรียนรู้ ได้ภาคภูมิใจในมรดกงานพื้นบ้านของตนเอง

ลงชื่อ ...................................................... เจ้าของบ้าน
(......................................................)

กองทุนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ขอชื่นชมเจ้าของบ้านที่มีความตั้งใจเก็บรักษาบ้านไม้ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หากบรรพบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นได้ทราบโดยญาณวิถีใดๆ ท่านต้องยินดีที่ลูกหลานรักษาบ้านให้ได้อยู่อาศัยอย่างผาสุกเป็นเวลายาวนาน

ลงชื่อ..........................................................ตัวแทนกองทุนฯ
วันที่ ..........................................................

คำนำ

เมืองแพร่ มีคนมากมายที่กำลังทำประโยชน์ หรือ พัฒนาบ้านเมือง และมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามเรียนรู้การรวมกลุ่มกันพัฒนา ซึ่งต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แรกสุดน่าจะเป็นหลักการที่ว่า คนเดียวไม่เก่งทุกอย่าง ต้องอาศัย "พี่รู้หนึ่งน้องรู้สอง" หลักการถัดมา น่าจะเป็น ความเข้าใจระหว่างเพื่อนร่วมกลุ่มว่าแต่ละคนพื้นฐานเป็นอย่างไร แรงรับแรงส่งเท่ากันไหม คิดมากคิดน้อยต่างกันไหม ถ้าเข้าใจแบบนั้นแล้วก็จะฟังกัน และก็จะได้สาระนำไปทำงานร่วมกัน

ถ้าหากคนกลุ่มนี้เข้าใจกัน เดินร่วมกันต่อไปได้ ก็จะก้าวหาความยากลำบากลำดับถัดมา คือ ขยายกลุ่ม เพิ่มจำนวนเพื่อนช่วยคิดช่วยทำ ซึ่งอาจเป็นคนวัยเกษียณ คนวัยทำงานคนหนุ่มสาวในวัยเรียน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเคยชินกับการรับบริการ ร้องเรียนขอความช่วยเหลือ ติดอยู่ในกระแสที่สังคมโถมทับเอาไว้ หรือ มัวยุุ่งแต่รับคำสั่งจากหน่วยบังคับบัญชา โดยไม่เข้าใจว่า ส่วนกลางนั้นก็ต้องการผ่องถ่ายการตัดสินใจมาสู่ระดับท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อยู่แล้ว

ส่วนผู้ที่คิดได้พึ่งตัวเองได้ ก็อาจไม่มีโอกาสได้เงยหน้าขึ้นมามองเห็นความเป็นกลุ่มก้อน นอกจากนั้น เราก็ต้องคิดต่อว่าที่ว่าขยายกลุ่มนั้น จริง ๆ แล้วหมายถึงการทำให้องค์กรนั้นโตขึ้น หรือ คนแบบเดียวกันนั้น ที่มีแนวคิดพัฒนาการอยู่การกิน รักษาดินน้ำป่า ฯลฯ ได้มองเห็นซึ่งกันและกัน แล้วเห็นพลังร่วมกัน

ข้อมูลที่คณะทำงานรวบรวมขึ้นนี้ มีจุดประสงค์แรกสุดคือ เผยแพร่ระหว่างคนทำงานด้วยกัน ว่างานที่ผ่าน ๆ มาว่าเป็นอย่างไร ที่ภาคีที่เราพอเห็นนั้นทำกันเรื่องอะไรบ้าง ยังมีอะไรที่เราอยากทำแต่ยังไม่ได้เริ่ม ประการที่สอง เราคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ บ้างเผื่อจะนำไปสานต่อได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็คือ อย่าเดินตกร่องเหมือนกับที่คนกลุ่มนี้เคยเดิน

ขนส่งสาธารณะในจังหวัดแพร่

สิ่งที่อยากเห็น ในเมืองแพร่เรื่องหนึ่งก็คือ ระบบการขนส่งสาธารณะ

วันที่ 7 กย. ข้าพเจ้า ไปสอบถามข้อมูลที่สำนักงานขนส่งจังหวัดแพร่ ได้สรุปงานมาเล่มหนึ่ง ระบุวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้ว่า "มุ่งจิตบริการ พัฒนาการขนส่ง เทคโนโลยีก้าวหน้า ประชาเป็นสุข" รายงานเล่มนี้ทำให้ทราบว่า ในปี 2554 สำนักงานฯ เก็บภาษีรถได้ถึง 66 ล้านบาท (ต.ค.53-พ.ค.54) ถ้าครบ 12 เดือนคงจะมากกว่าปี 2553 (ต.ค.52 - ก.ย.53) ที่เก็บได้ 97 ล้านบาท จากรถทุกประะเภท ตั้งแต่รถนั่งส่วนบุคคล จนถึง รถแทรกเตอร์หรือรถที่ใช้งานเกษตรกรรม ที่มีจำนวนถึง 214,275 คัน นอกจากนั้นทำให้ทราบว่า เมืองแพร่มีรถรับจ้างวิ่งบริการอยู่ถึง 20 สาย ใครเคยนั่งสายไหนบ้าง

ข้าพเจ้าขอชวนคิดว่า "ถ้าเดินทางจากสะเอียบ ไปสรอย โดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้รถโดยสาร จะใช้เวลาเท่าไหร่?" ชวนคิดอีกว่า " ถ้ามีรถประจำทาง เด็กนักเรียนจะต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ หรือไม่? และจะลดหนี้สินหรือไม่"

การที่เมืองแพร่ไม่นิยมรถประจำทาง มันน่าจะเป็นปัญหาไก่ก่อนไข่มั้ย ถ้าเราส่งเสริม/หนุนให้รถประจำทางวิ่งเป็นเวลา ประชาชนจะใช้ไหม จะประหยัดพลังงานแค่ไหน จะทำแบบรถเมลล์ฟรีที่ กทม. ทำ ได้ไหม?

เจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าศึกษาอะไรได้ความอย่างไร ก็ขอเล่มหนึ่ง

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้งานข้อมูล

เรากะไว้คือ เพื่อการเรียนรู้ระหว่างคนแพร่ด้วยกัน โดยเฉพาะคณะทำงาน อาจได้เป็นเล่ม ถ้าข้อมูลดี ๆ อาจใช้สำหรับทำแผนแม่บทชุมชนในภายหน้า ถ้ายังไม่ได้ ก็ค่อยพัฒนาไป

แนวเขียนที่ต้องการจากทุกข่ายทุกประเด็น

การรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ อยากได้จากผู้ปฏิบัติงานจริง ๆ ทุกท่าน ทุกข่ายเท่าที่เป็นไปได้

ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะคนที่ได้รับทุนจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง อยากเป็น "คนพัฒนาเมืองแพร่" ด้วยกัน

ขอให้ช่วยเขียน 3 อย่าง ส่งมาให้ที่ e-mail : wuttikai@gmail.com หรือเขียนเป็นกระทู้ลงบล็อกได้เลย

1. ที่มาของเรื่อง สัก 10 บรรทัด
2. การดำเนินงานปัจจุบัน สัก 10 บรรทัด
3. ข้อเสนอแนะ สัก 10 บรรทัด
ลงชื่อผู้เขียน พร้อมที่อยู่ / โทรศัพท์ ให้ติดต่อกลับได้ด้วย

สำหรับประเด็น หรือ ข่ายใด ที่ไม่มีใครส่งเรื่องแต่คณะทำงานพอรู้เรื่อง ก็จะพยายามเขียนให้

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

วิธีการดำเนินการ ระยะเวลา

1. วางแผนโครงเรื่อง กระบวนการทำงาน

2. ขอข้อมูล เรื่อง ภาพ นำเสนอบนบล็อกนี้

3. ย่อข้อมูล โดยคงสาระสำคัญ และ อ้างอิงที่มาให้ค้นกลับไปหาข้อมูลต้นได้

4. เรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว นำเสนอบนบล็อกนี้

5. เวทีตรวจทานข้อมูล

6. จัดทำเป็นรูปเล่ม รอพิมพ์

ระยะเวลาทำงาน 1 กันยายน - 15 พฤศจิกายน 2554

หัวข้อที่รวบรวม

หมวด 1.

เก็บ รวบรวมข้อมูลจาก 34 พื้นที่ และ ประเด็นขับเคลื่อน ของภาคประชาชน
ในพื้นที่ใช้งบประมาณของ พอช. และ ประเด็นต่าง ๆ อาทิ
เกษตรยั่งยืน หมอเมือง โฉนดที่ดิน เยาวชน เมืองเก่า
สวัสดิการ ผู้หญิง แผนแม่บทชุมชน บ้านมั่นคง สื่อ
วัฒนธรรม และผู้สูงอายุ ธนาคารต้นไม้ เวทีสมัชชา
เวทีประชาธิปไตยชุมชน สภาองค์กรชุมชน สภาการเมือง


หมวด 2.

เก็บข้อมูลจากกิจกรรมพิเศษตามความสนใจ อาทิ
ความรู้ที่ได้จากการดีดบ้านหนานกั่น (ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่)
ความรู้จากเวทีสืบค้นเรื่องรถไฟสายแรกของแพร่ (สภาองค์กรชุมชนหัวฝาย)
ความรู้เรื่องรถโดยสารสาธารณะของจังหวัดแพร่ (ข่ายลูกหลานเมืองแพร่)


หมวด 3.

ข้อมูลทั่วไปที่ชาวบ้านเล่าขาน หรือ เป็นประเด็นสนใจ


หมวด 4.

ข้อมูลจากหน่วยราชการ หรือ งานวิจัยต่าง ๆ เช่น
สุขภาพ อนามัย (สาธารณสุข)
การเก็บภาษี อากร (สรรพากร สรรพสามิต)
ภาวะการคลัง การเงินของจังหวัดแพร่ (คลัง)
การค้า
ทางรถไฟสายเด่นชัย เชียงราย
ข้อมูลลุ่มน้ำแม่ยม

ต้นเรื่อง

การกระจุกตัวของอำนาจในส่วนกลาง ทำให้เกิดปัญหามากมาย หลายประเทศทั่วโลกจึงพยายามกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน นักพัฒนาชาวไทย จึงคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเองขึ้นมา ชวนคนในแต่ละจังหวัดลุกขึ้นมาขับเคลื่อน กลุ่มหนึ่งในจังหวัดแพร่ จึงพยายามรวมรวมข้อมูลของจังหวัดแพร่ในด้านต่าง ๆ โดยเน้นในส่วนที่เกิดจากกิจกรรมของภาคประชาชน

ข้อมูลที่ได้จะพยายามนำเเสนอต่อสาธารณะผ่านบล็อกนี้ เชิญทุกท่านเพิ่มเติมโดยการส่งกระทู้เข้ามาแสดงความเห็น

โครงการนี้ใช้งบประมาณของ โครงการหนุนเสริมการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสำนึกการเป็นเจ้าของชุมชนท้องถิ่นจังหวัดแพร่ สภาพัฒนาการเมือง