วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องหยิบมา จากการนั่งคุยในที่ต่าง ๆ

(ฝากมาจาก คุณชัยรัตน์ ฤตวิรุฬ)


1. เขตขยายการสอนร้องกวางของ ม.แม่โจ้ฯ เชียงใหม่ เมื่อไหร่จะเป็น ม.แพร่ มหาวิทยาลัยแพร่อย่างเต็มภาคภูมิ

2. โอกาสไหนที่คนรักษาป่า จะได้เงินทองจากเรื่องคาร์บอนด์เครดิต

3. ถ้าเมืองแพร่จะเชื่อมต่อโครงการปิดทองหลังพระ จ.น่าน ขอเสนอพื้นที่บ้านน้ำแรม ซึ่งบริบทจะคล้ายกันมากกับดอยตุง



(ประเด็นจากคุณสมาน ผูกพันธ์)

4. กำลังมีการดำเนินการสำรวจน้ำมันในพื้นที่ตำบลทุ่งกวาว คนแพร่ใครรู้บ้าง

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

กาดกองเก่าปีที่ 2

หลังจากยื้อกันมานานตลอดหน้าฝน ..ในที่สุดคณะกรรมการบริหาร(มีสักกี่คนกันนะ...)ขอสรุปเป้นข้อตกลงในการจัด กิจกรรมเอาไว้ให้อ่านกันดังนี้นะครับ

งานแอ่วกาดกองเก่าเกิดขึ้นจาการร่วมมือของพ่อ แม่ พี่ น้องในชุมชนทั้งในและนอกเขตเทศบาล ไม่ได้มีใครคนหนึ่งคนใดเปนเจ้าของแต่เราเป็นเจ้าของร่วมกันทั้งหมด ตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกว่างเป็นพื้นที่เปิดในการพูดคุย ปรึกษา หารือ ค้าขาย เพื่อส่งเสริมการกระจายสินค้า และเพิ่มมูลค่า รายได้ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน และส่งเสริมเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของท้องถิ่นบ้านเฮาเมืองแป้

ความอยู่รอดของงานแอ่วกาดกองเก่า ขึ้นอยู่กับ พ่อค้า แม่ค้า ตลอดจนลูกค้าที่มาอุดหนุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างจุดขายและให้เกิดความแตกต่างจากกาดอื่นๆ เมืองแป้มีกาดสามวัย ทุกวันศุกร์(ขายอาหารมีดนตรีฟังด้วยโดยเทศบาลจัด) กาดคลองถมทุกอังคารและถนนคนเดินทุกอาทิตย์แรกของเดือน สองที่หลังนี้ขายสูนอิสูนอะ สะปะ๊สะเป๊ด ดังนั้นเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ (สำคัญมาก)นอกจากสถานที่แล้วเราจึงขอความร่วมมือต่างๆ ดังนี้เน้อ

ประเภทของสินค้าที่สามารถนำมาวางจำหน่ายในงานแอ่วกาดกองเก่า

*** พืช ผัก ข้าว เห็ด ผลิตผลทางการเกษตร เน้น เกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี (จะมีกรรมการไปตรวจสอบถึงที่เลย)

*** ผลิตภัณฑ์ที่ทำเองหรือมาจากแหล่งผลิตในชุมชนเมืองแป้หรือพื้นที่ใกล้เคียง

*** ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรือผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ อาจจะเป็นของทันสมัยก็ได้เช่น เสื้อยืดพิมพ์ลาย ชวนแอ่วแป้ โปสการ์ด ภาพเขียน งานหัตถกรรม ซองใส่มือถือทำจากผ้าหม้อฮ่อม หรือผ้าย้อมธรรมชาติ ฯลฯ

*** สินค้ามือสองที่ยังใช้ได้ หรือสินค้าเก่าเก็บ เอามาเลหลังลดราคา (เสื้อ กางเกงที่เคยใส่แต่เบื่อแล้ว) หนังสือ วิทยุ นาฬิกา ของเก่าคลาสิค (ขอยกเว้นว่าไม่ใช่เอามาจากตลาดมือสองเหมือนตลาดคลองถม)

*** ไม่ควรเป็นสินค้าจากแหล่งผลิตที่มีขายทั่วไป เช่น น้ำอัดลม ไอติมวอลล์ เนสเล่ย์ ยกเว้นว่าเป็นผู้ที่มีบ้านอยู่ในบริเวณงานและจำหน่ายเป็นประจำอยู่แล้วใน พื้นที่

*** สินค้าผิดกฎหมาย ของขโมยมา เหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาเสพติด ไม่อนุญาตให้เอาเข้ามาขายนะครับ (ยาดองก่บ่ได้หนา)

ข้อจำเป็นปฏิบัติ

1.รถยนต์ ยานพาหนะทุกชนิดให้จอดด้านนอกงาน รถขนของเข้ามาขนได้ก่อนและหลังเวลางาน

2.ผู้ ค้าทุกท่าน ควรแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองให้สุภาพเรียบร้อย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น โสร่ง ผ้าหม้อฮ่อม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นเอกลักษณ์ที่ควรภาคภูมิใจในอารยธรรมลานนาของ หมู่เฮา

3.ร้านค้าแต่ละร้านควรมีอุปกรณ์อำนวยแสงสว่างและอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆมาด้วย (สามารถขอใช้ไฟกับบ้านในกาดตามแต่ตกลงกัน)

4.ร้าน ค้าควรช่วยกันดูแล ทำความสะอาด ความเรียบร้อยในบริเวณความรับผิดชอบของตัวเอง (ไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล เราต้องช่วยกันดูแลให้พื้นที่สะอาดงามตาเสมอนะครับ)

5.เจ้าของร้านสามารถตบแต่งร้านของตัวเองได้ตามสมควร เพื่อเป้นจุดสนใจและเป็นสีสันของงาน

6.ร้านค้าแต่ละร้านอนุญาตให้มีพื้นที่ขายไม่เกิน 4 ตรม.( 2 x 2 เมตร) และเปิดพื้นที่ ทางเข้า-ออกให้เจ้าของบ้านด้วย

7.ภาชนะบรรจุ อาหาร-เครื่องดื่ม ควรเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เยาวชนและสังคม

8.อาจจะมีขอรับบริจาคในการจัดกิจกรรมตามสมควร ไม่เกิน 50 บาท/ร้าน เพื่อการประชาสัมพันธ์ เครื่องเสียง ความปลอดภัย

9.กิจกรรมร่วมที่สนใจมาแสดง เช่น ดนตรีพื้นเมือง บีบอยด์ วาดภาพระบายสี ฯลฯ เข้ามาร่วมได้แต่ต้องจัดสรรงบประมาณมาเอง

การจัดงานจะมีทุกวันเสาร์ เวลาบ่ายสามโมงถึงสองทุ่ม ตั้งแต่สี่แยกพระนอนเหนือถึงแยกประตูมาน

เริ่มวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2554 นี้เป็นต้นไป

ติดต่อประสานงานที่ คุณตุ๊กแก 087 5447460 หรือ ชิน 081 347 5342

ตำบลในเวียง เดินเรื่องชวนกันตั้งสภาองค์กรชุมชน

ขออนุญาตท่านทั้งหลายที่จะบันทึกไว้ในนี้

จากวันที่ทำสัญญากับ พอช. คณะกรรมการโครงการ "ชวนกันตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในเวียง" ได้พบปะกันหลายรอบ
รอบละ 2 คน 3 คน 5 คน วันนี้ 15 คน

เกิดค่าใช้จ่ายจริง ๆ คือวันนี้ แต่ก็ต้องเบิกของวันอื่น ๆ ย้อนหลัง เพราะเพิ่งเบิกจากบัญชีในวันนี้

ไม่ได้นับที่เจอกันในงานอื่น ๆ ซึ่งก็มีผลในการพูดคุยวันนี้เหมือนกัน



วันนี้ข้าพเจ้าไปถึงที่ประชุม 10 โมงตรง เรานัดกันที่บ้านประธานชุมชนทุ่งต้อม พี่จีระพันธุ์ จันทร์ดี เตรียมโต๊ะเก้าอี้ไว้พร้อมมสำหรับคน 25 คน มีคนมารอแล้ว 1 ข้าพเจ้ากางขาตั้งบอร์ด เขียนไว้ 1 แผ่นติดฝา

พอมากันได้ 6 คน ก็พูดคุยกันอย่าง เบรคไม่อยู่ หยอกล้อ เย้าแหย่กันอหอมปากหอมคอ
แต่ละคนมีประสบการณ์ออกมาเล่าได้อย่างสนุกสนาน

ถ้าฟังดี ๆ ข้อด้อยของตัวแทนกลุ่มหนึ่งนั้นจะพบคำตอบในกลุ่มถัดไป

เป็นเราเองที่ไม่สามารถเขียน จับเวทีให้รื่นไหล แต่ที่สุดแล้วก็ให้กรอกข้อมูลไว้ก่อน

ที่น่าสนใจคือ แกนนำบางคนบอกว่า

1.เวทีให้แสดงความคิดโดยอิสระแบบนี้หาได้ยากในที่ประชุมอืื่น ๆ เพราะต้องรับโดยดี ไม่มีบรรยากาศเอื้อให้แถลงค้านหรือเสนอความเห็นที่แตกต่าง
2. อยากรวมกลุ่มแกนนำเพื่่อแสดงความเข้มแข็ง เพื่อนำเสนอประเด็นที่ต่างจากฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหาร รวมทั้งทวงสิทธิ์ที่จะได้สวัสดิการ ได้ทรัพยากรมาจัดการอย่างสะดวกมากขึ้นในการบริการชุมชน
3. ซึ่งแท้จริงแล้ว แกนนำหลายคนก็ระลึกไม่ได้ว่า เขามีสิทธิ์นั้นมาพร้อมกับงบประมาณแล้ว แต่มองไม่เห็นเอง

แต่วันนี้กลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มนักมวยเก่า ที่เข้มแข็งมากๆ

เขามีการตั้งกลุ่มมาหลายปีแล้ว มีการจัดสวัสดิการให้เพื่อนสมาชิก รวมทั้งการเยี่ยมเยือนยามป่วยไข้ หรือ เสียชีวิต
สมาชิกบางคนเคยต่อยกันบนเวทีมาแล้ว ถึง 5 เวทีก็มี ตอนมาเลี้ยงสังสรรค์กัน ก็ยังเคยชวนกัน "มึงมาเอากับกูแหมสักรอบก๊ะ?"

ปัจจุบันนี้มีค่ายมวยในจังหวัดแพร่มากเกิน 20 ค่าย แต่ไม่มีสนามในจังหวัดให้นักมวยได้เจอกัน ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีงานวัด งานลอยกระทง การละเล่นอย่างหนึ่ง (หรือเรียกว่า มหรสพ?) ก็คือมวย บางงานต่อยเป็น 2 รอบด้วยซ้ำ ก่อนทุ่ม กับหลังสองทุ่ม

ไม่แน่นะ ในปลายเดือนตุลาคม 2554 นี้ มีงานศพอดีตเจ้าอาวาสวัดพระร่วง อาจมีมวยย้อนยุคให้คนแพร่ได้ชมกันมั่งก็ได้

จำนวนสมาชิกของชมรมตอนนี้มี ประมาณ 100 คน คนที่มาเข้าร่วมนั้นอย่างน้อยก็ออกจากอาชีพนักมวยมาแล้ว 20 ปี คนที่เลิกต่อยมวยใหม่ ๆ มักจะมองผ่านชมรม กว่าจะเห็นประโยชน์ารรวมกลุ่มก็เข้าสู่วัยกลางคนล่วงไปแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ดร.รุ่ง ประชาสังคม เมืองใต้ ว่าไว้ มีอะไรเหมือนของเราบ้าง


ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่วันนี้ตัดสินใจผันตัวเองมาทำงานประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะว่าเป็นโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชน หรือโครงการพัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อสันติสุข ผ่านทางมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งถือเป็นช่วงแรกๆ ที่ไฟใต้กลับมาลุกลามครั้งใหญ่ จนยากจะดับไหวอย่างในปัจจุบันนี้

เหตุใดปัญหาเรื่องภาคใต้ในช่วงนี้ถึงกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาภาคใต้นั้นมันขึ้นๆ ลงๆ แล้วพอมาถึงช่วงนี้ก็มักจะรุนแรงมากขึ้นเสมอ เพราะตอนนี้ไม่มีใครทำงานอยู่ในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้งหมด ทุกคนเขาวิ่งหาตำแหน่งกันหมดไง ฉะนั้นมันก็เลยเป็นช่องว่าง เหลือแต่ข้าราชการเด็กๆ ซึ่งบางครั้งก็เผอเรอบ้าง...เป็นแบบนี้ทุกปี

แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจไปว่า เพราะต้องการของบเพิ่ม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่หรอก ลองไปดูก็ได้ ช่วงนี้ผู้ใหญ่ทั้งหมดไปอยู่ที่กรุงเทพฯ กัน แล้วก็วิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจกันหูดับตับไหม้ทุกคน เนื่องจากทุกคนอยากลงมาอยู่ที่นี่ เพราะอยู่ตรงนี้ก็จะได้ผลประโยชน์ อย่างเวลางานก็จะทวีคูณ อาวุโสก็จะแซงขึ้น ใครๆ ก็เลยอยากจะลงมา แต่พอถึงช่วงโยกย้าย มันต้องขึ้นไปวิ่งที่กรุงเทพฯ ไง นี่คือเหตุผลที่ทำให้ช่วงนี้เกิดความรุนแรงมากขึ้นเป็นพิเศษ

ถ้าเป็นปัญหาแบบนี้ก็คงแก้ยาก เพราะถึงอย่างไรก็คงหลีกเลี่ยงเรื่องโยกย้ายไม่ได้อยู่แล้ว

มันเป็นความผิดพลาดของเรา ที่มุ่งให้ราชการเป็นคนแก้อยู่ฝ่ายเดียว เพราะราชการนั้นมีคนเยอะ ทรัพยากรเยอะ แต่จุดอ่อนคือเราไม่เคยนิ่ง คนจะมาอยู่นิดเดียวเอง เพื่อหาตำแหน่ง เสร็จแล้วก็ย้ายกลับไป เพราะฉะนั้นงานทั้งหลายก็เลยเกิดปัญหาคือ หนึ่ง-งานไม่ต่อเนื่องเลย สอง-คือด้วยความที่เขาแก่งแย่งชิงดีกัน ฐานข้อมูลของคนที่มาก่อน จะไม่ให้คนหลังเลย ปัญหามันก็เลยเกิดซ้ำซากแบบนี้แหละ แล้วเวลาที่รัฐบาลจะทำอะไรก็จะนึกแต่ทางราชการ เพราะเขาไม่ไว้ใจคนที่นี่ เนื่องจากเขาไม่ได้มองว่าเป็นคนไทย แล้วก็จะรู้สึกว่าคนพวกนี้ไม่จงรักภักดี ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่มีความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนมีไม่ถึง 5,000 คนมั้ง

ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ใช่ 5,000 คนจาก 1.6 ล้านคน แต่เขาก็ไม่ไว้ใจอยู่ดี ก็เลยพึ่งแต่ราชการ ซึ่งไม่เคยนิ่ง อย่างแม่ทัพภาค 4 อยู่ที่นั่นก็ทำงานปีเดียวก็ขึ้นพลเอกแล้ว เพราะฉะนั้นตราบใดที่เราพึ่งแต่ระบบแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้หรอก

ผมว่าสิ่งสำคัญที่ราชการต้องทำตอนนี้ก็คือ 'คิดใหม่' ซึ่งแบบนี้มันยากที่คนกรุงเทพฯ จะทำความเข้าใจ โดยเราต้องคิดว่า คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ คนไทย เขาอยู่ที่นี่มานานแล้ว ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์บ้างแต่เขาก็คือคนไทย เขาก็รักในหลวงนี่แหละ เพียงแต่ว่า ถ้าเราไว้ใจเขา ให้เขาทำงาน เขาก็ไม่แยกไปไหนหรอก แล้วแม้แต่พวกมาเลเซีย เขาก็ไม่ชื่นชมก็คนมุสลิม 3 จังหวัดนะ อย่างผมพาคนมุสลิมออกไปมาเลเซีย ซึ่งถ้าอยู่ที่นี่เราเรียกเขาว่าคนมลายู แต่พอไปถึงด่าน เขาก็ไปแนะนำตัวว่าเป็นคนมลายู ยื่นพาสปอร์ตไปให้ ด่านบอกโนๆๆๆ คนไทย คนสยาม ฉะนั้นเขาไม่ยอมรับอะไรเลย แต่เราไปหวาดระแวงเอง

แล้วภาคประชาสังคมล่ะไม่มีบทบาทอะไรบ้างเลยหรือ

ที่นี่ถือว่าอ่อนแอมากเลยนะ โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับภาคอื่นๆ มูลนิธิที่ทำงานจริงๆ จังๆ เกือบไม่มีเลย ตอนนี้มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ถือว่าเป็นมูลนิธิที่ใหญ่ที่สุดในการทำกิจกรรม เพราะมูลนิธิอื่นจากกรุงเทพฯ เขาลงมา แต่มาชั่วคราว มาจัดสัมมนาแล้วก็กลับขึ้นมา หรือไม่ลงมาแล้วก็ถามๆๆ เซ็นชื่อกลับไปเลย ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ มันก็เลยอ่อนแอไปโดยปริยาย

สรุปก็เป็นแบบเดียวกับระบบราชการที่มาแล้วก็ไป

ใช่...แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ถึงอย่างไรระบบราชการก็จำเป็น แต่ในภาวะวิกฤตมันต้องลดบทบาท แล้วพุ่งตรงไปที่ภาคประชาสังคม ตัวอย่างเช่นตอนนี้จะมีกองทุนผู้หญิงเกิดขึ้น ซึ่งควรจะต้องพุ่งตรงไปที่กลุ่มผู้หญิงเลย แล้วจะได้อะไรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าลงไปแล้วยังไปขึ้นกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มันก็เหมือนเดิมอีกนั่นแหละ ค่าหัวคิว ร้อยแปดไปหมด แต่เชื่อเถอะทำยาก เพราะเอาแค่เคารพสิทธิชองเรา ไม่รังแกเรา ไม่จับลูกหลานเราไปเขาตาราง แค่นี้ส่วนกลางก็รับไม่ได้แล้ว คือเขาพูดได้ แต่พฤติกรรมที่ทำ...ไม่ใช่เลย

อย่างนี้บทบาทของราชการที่ควรจะลดไป มันน่าจะไปอยู่ที่ระดับไหน

ถ้าเรื่องทหารไม่ต้องไปลด เพราะเขาไม่ลดแน่นอน แต่ภาคราชการที่เกี่ยวกับการบริการทั้งหลาย โดยเฉพาะงานเกษตร ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 8 ปี มีคนมหาศาลเลยที่ลงมา แต่ปรากฏว่าพอลงไปแล้ว ราชการเราไม่มีความรู้หรือความชำนาญอะไรเลย เพราะเขาไม่เคยทำ ตอนเรียนมาก็เรียนเกษตรจริง แต่ก็งูๆ ปลาๆ ดังนั้นถ้าต้องการทำจริง ก็ควรเอาบริษัทเกษตรที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ขอเป็นซีเอสอาร์ อย่ามุ่งมาหาผลประโยชน์ เอามาเลย เช่นที่มาเลเซียต้องการไก่มหาศาล แค่นี้ก็ทำโครงการเลี้ยงไก่ได้ทุกหมู่บ้านเลย แล้วส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเลี้ยงกันทุกแห่ง ซึ่งพอเลี้ยงไก่ก็จะมีภาระมากขึ้น แทนที่จะไปมั่วสุมก็น้อยลง เวลาที่จะทำอะไรออกนอกลู่นอกทางก็ไม่มี เพราะเขานึกถึงอาชีพของเขา แต่ถ้าเป็นราชการทำส่งแค่ 3 เดือนก็เลิกแล้ว

แสดงว่า ตอนนี้เยาวชนที่นั่นก็มีเวลาว่างมากเลย

ถูกต้อง เพราะเขาเป็นเด็กผู้ชายนะ แล้วจบแค่ ป.6 ก็ไม่เรียนหนังสือแล้ว พอไม่เรียนก็ว่าง แล้วพอไปนั่งคุยกันก็เหมือนชาวไทยพุทธกรุงเทพฯ นี่แหละ ถามว่าทำอะไร ตอนแรกก็เรื่องเล็กๆ ก่อน จากนั้นก็ต่อไปที่อันอื่นๆ ฉะนั้นเรื่องอาชีพถึงสำคัญ แต่ต้องใช้มืออาชีพไม่ใช่ราชการ เพราะราชการเราทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีที่ไหนหรอกที่ยังชีพด้วยการประกอบการ เราเรียนมาก็งูๆ ปลาๆ ผมมีตัวอย่างที่เห็นชัดๆ อยู่เรื่อง ครั้งหนึ่งผมเคยทำโครงการเรื่องแพะที่นี่ ผมก็ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบด็อกเตอร์เรื่องแพะมา ปรากฏว่าแกไม่เคยเลี้ยงแพะ แกอ่านแต่หนังสือแพะ พอมารุ่น 2 เราก็เอาวิทยากรเป็นคนเลี้ยงแพะมาเลย ปรากฏว่าเขาชอบมากเลย เพราะถามอะไร ตอบได้หมด เพราะเขารู้จริง

เช่นเดียวกับเรื่องสังคมก็เหมือนกัน ก็ต้องให้ภาคประชาสังคมทำ อย่างเรื่องเด็ก สตรี ต้องปล่อยเขาเลย ของมูลนิธิเราปล่อย ทำเอาคิดเอง อาจจะมีคอร์รัปชันบ้าง แต่คิดแล้วเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าราชการ หรือแม้แต่งานยุติธรรมก็ส่งเสริมชมรมทนายมุสลิมขึ้นมา ให้เขามาช่วย เพราะเขาก็พูดภาษาเดียวกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าแก้ปัญหาได้ ก็ต้องมีภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามาช่วย ถ้าทำแบบตั้งอกตั้งใจใช้เวลาไม่นานหรอก แค่ 3-4 ปีก็เรียบร้อย

ส่วนราชการก็ถอยมาทำแต่เรื่องนโยบาย อย่าลงปฏิบัติ เพราะลงจริงก็ไม่กล้า ลงไปก็กลัว สังเกตดูก็ได้เวลานายกรัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ลงพื้นที่ครั้งหนึ่ง มาเป็นร้อยเลย ทั้งทหาร ตำรวจ อส. (กองอาสารักษาดินแดน) คุ้มกันเต็มไปหมด

แล้วเรื่องระบบการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนามากขึ้นกว่านี้ไหม เพราะดูเหมือนเด็กที่นี่จะจบในวุฒิที่ไม่สูงเท่าใดนัก

มีผลเยอะเลย เพราะระบบการศึกษาเรานั้นไม่เอื้อต่อความต้องการ บางอย่างก็ขัดต่อหลักศาสนา แต่ผมว่าตอนนี้มันเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะเริ่มมีการปรับกันมากขึ้นแล้ว

แต่ก็มีบางคนวิตกว่า การศึกษานั้นเป็นบ่อเกิดชองแนวคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดน

ผมคิดว่ามันเพียงแค่สีสันเท่านั้นแหละ เพราะคนที่มีแนวคิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะไปเรียนต่างประเทศอีกที เป็นอียิปต์รุ่นแรกๆ ตอนยุคที่รัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนหลังก็มาจากปากีสถาน เรื่องพวกนี้เป็นสีสันทั้งนั้นแหละ มุสลิมเองก็มีหลายสาย ทั้งสายรุนแรงก็มี ซ้ายจัดก็มีเหมือนอิรัก อิหร่าน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปให้ความสำคัญ เอาเวลามานั่งคุยกันดีกว่า เอามาแลกกัน ไม่ใช่พอเสียงต่างก็จับทันที

หากคนส่วนกลางเปิดใจและราชการถอยออกมามากกว่านี้ แล้วในพื้นที่ล่ะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ผมเชื่อว่า ถ้าเราเปิดโอกาส มันจะเกิดขึ้นเอง แต่ตอนนี้ไม่เปิดโอกาส มันเหมือนมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ต้นคือ ‘ต้นราชการ’ ต้นอื่นก็งอกไม่ได้ เพราะแดดไม่ลง จริงๆ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องไปวางแผนอะไรมาก มันก็คล้ายๆ กับที่ในหลวงรับสั่งว่า อย่าวางแผนที่จะปลูกป่า แค่ไม่โคนป่าก็พอแล้ว แต่ราชการเอะอะก็จะปลูกป่าเรื่อย ปลูกทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เป็นป่า เพราะไปถางป่าเก่าแล้วไปปลูก ปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าเรายอมรับได้แค่นี้ก็จบแล้ว
>>>>>>>>>>>>

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

นาตอง

ขุดลอกได้เพียง 2 เดือน น้ำมา หินทรายมูลเหมือนเดิม เป็นเพราะการขุด หรือ เครื่องมือ หรือ ธรรมชาติ


น้ำมาก เผาไร่ไม่ได้ ปลูกดิบ ๆ เพราะฉะนั้น ข้าวไร่ปีนี้จะได้น้อย อาจต้องเก็บเป็นพันธุ์ แล้วเบิก/ซื้อจากธนาคารข้าวมากิน

ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔


ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔

ความคิดแรกเริ่มในการทำงานอนุรักษ์เฮือนไม้สักในเมืองแพร่นั้น เพียงเพราะว่ากระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เริ่มจะเป็นที่นิยม อีกอย่างหนึ่งเสน่ห์ของเมืองแพร่ที่ทำให้ดูเป็นเอกลักษณ์คือเฮือนไม้สักที่มีอยู่อย่างมากมายในตัวเมืองแพร่มีตั้งแต่บ้านของเจ้านายในอดีต เฮือนห้องแถวร้านค้า เฮือนของชาวบ้านธรรมดา ที่ได้รับการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของ สล่าชาวเมืองแพร่

เพราะในอดีตไม้สักเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป หาได้ไม่ยาก เมื่อไม่มีเจ้านายปกครอง(พ.ศ.๒๔๔๕) ชาวเมืองแพร่จึงสามารถนำไม้สักมาปลูกเฮือนกัน จนเหลือให้เห็นกันอย่างทุกวันนี้

จากการพูดคุยกันกับข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ( คุณประสาท ประเทศรัตน์, คุณสุนันท์ธนา ชมภูมิ่ง แสนประเสิรฐ คุณวุฒิไกร ผาทอง และ คุณสหยศ วงศ์บุรี ) โดยมีอาจารย์สิริกร ไชยมา เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการฯ จึงนำมาสู่การก่อตั้งชมรมฯ และมีกิจกรรม “ผ่อบ้านแอ่วเมือง” จำนวน ๗ ครั้งแบบจำลองบ้านไม้อีกสามหลัง โดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองแพร่ ผ่านชุมชนพงษ์สุนันท์ ในปี ๒๕๕๐


หลังจากนั้นก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมทั้งหลาย มาจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของเฮือนไม้สักและลูกหลานเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่ แสดงอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ถึงกระนั้นก็ตามแม้จะพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยได้ลงไปสำรวจพูดคุย ให้กำลังใจโดยมีการมอบ”ธงไจย” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับเฮือนไม้ที่มีอายุห้าสิบปีขึ้นไปและมีเอกลักษณ์ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการรื้อถอนเฮือนไม้สักที่มีมูลค่าสูงทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นที่ถูกขายไปในราคาหลักแสนต้นๆ ได้ เพราะไม้สักเก่านั้นมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและเป็นที่ต้องการของตลาด


การทำงานได้ขยายขอบเขตมากขึ้นจากการที่จะอนุรักษ์เพียงตัวเฮือนไม้ เริ่มทำกิจกรรมเชิงเสวนาเพื่อให้ได้ใกล้ชิดและลงลึกกับชุมชนมากขึ้น โดยใช้ประเด็นประวัติศาสตร์และจิตสำนึกมาเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น กิจกรรมฉายหนัง”พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งเป็นหนังไทยขาวดำที่ถ่ายทำเมื่อปี ๒๔๘๒ โดย นายปรีดี พนมยงค์(รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในยุคนั้น)นำกองถ่ายมาที่เมืองแพร่ มีนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์(อดีตสส.แพร่คนแรกและเสรีไทย)เป็นผู้ให้การช่วยเหลือในการถ่ายทำฉากรบที่บ้านป่าแดง โดยมีการนำช้าง ม้า และชาวเมืองแพร่ร่วมเข้าฉากอย่างมากมาย กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่ คุ้มวิชัยราชาบ้านเดิมของนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์
ตัวแทนของชมรมฯได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานมากมายได้แก่ เทศบาลเมืองแพร่ สนง.วัฒนธรรมและสภาวัฒนธรรมแพร่ อบจ.แพร่ สมัชชาคนแพร่ กศน.แพร่(การแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนกับสหรัฐอเมริกา และการซ่อมบ้านมิชชั่นนารีอายุร้อยกว่าปี ในพื้นที่ของ กศน.แพร่) ชุมชนต่างๆในเขตเทศบาล นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ บางกอกฟอรั่ม จัดเสวนา “ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต”ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายจาก กรุงเทพฯ เชียงใหม่และน่าน มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมให้คำชี้แนะ (๒๕๕๒) และในปีเดียวกันทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาได้มอบทุนเพื่อทำหนังสือ “ผ่อบ้าน หันเมือง” ผ่านทาง ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ : สปาฟา

ร่วมกับการเคหะฯ สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาคชุมชนเมืองแพร่ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อสร้างแนวทางไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและการอยู่อาศัยแบบบูรณาการ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชุมชนที่ควรค่าแก่การฟื้นฟู ส่งเสริมเอกลักษณ์พื้นที่
การทำงานของชมรมฯ ได้ขยายขอบเขตการทำงานไปในเชิงให้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กับการทำงานเชิงอนุรักษ์มากขึ้นในปี ๒๕๕๓ โดยมีหน่วยงานทางสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาจึงได้เข้าร่วมโครงการเมืองแพร่ เมืองแห่งความสุข จัดกิจกรรม “แอ่วกาดกองเก่า” เพื่อเป็นพื้นที่แนวรุกเชิงวัฒนธรรม โดยนำเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่นๆ เข้ามาร่วม เช่น พอช. กลุ่มโฉนดชุมชน สถาบันปุ๋มผญา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่พบปะพูดคุยของประชาชนในละแวกตัวเมืองเก่า เป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของเยาวชนและเข้าร่วมจัดงานฤดูหนาวปลอดเหล้าเมื่อต้นปี ๒๕๕๔

และได้ร่วมกับโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนและสปาฟาจัดทำแผนอนุรักษ์อาคารเก่าของโรงพยาบาลเพื่อจัดทำเป็นอาคารนิทรรศการ



การทำงานของชมรมฯในแต่ละกิจกรรมคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมมุ่งหวังเพื่อสร้างความเข้าใจ ความเคารพต่อพื้นที่โบราณสถาน จึงได้จัดรื้อฟื้นประเพณีสุมมาเมฆ ประตูเมืองและดำหัวเจ้านายเมืองแพร่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคลกับชาวแพร่ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีโดยเริ่มในปี ๒๕๕๔ เป็นปีแรก หวังให้เป็นการจุดประกาย สร้างจิตสำนึกและรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวแพร่ที่ได้สร้างบ้านแปงเมือง และปกป้องให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขดังปัจจุบัน



แผนงานของขมรมฯ หวังให้มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมร่วมไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับบริบทและสังคมเมืองแพร่

ให้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมและเอื้อต่อการอนุรักษ์
เร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวเมืองแพร่เห็นคุณค่าในโบราณสถาน โบราณวัตถุซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมรดกของชาวแพร่ยังเป็นมรดกของชาติ
การจัดให้มีการวางแผนการติดป้ายโฆษณาในตัวเมืองเก่าเมืองแพร่อย่างเป็นระเบียบสวยงาม
มีการจัดการขนส่งสาธารณะและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางศิลปวัฒนธรรมน้อยที่สุด
การจำกัดการคมนาคมขนส่งและการก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้เข้ามารบกวนพื้นที่อนุรักษ์
สร้างจิตสำนึกให้เยาวชนให้เข้าใจรักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้ต่อไป
จัดทำสื่อเพื่อกระตุ้นและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมของเมืองแพร่ในรูปแบบต่างๆเช่น หนังสือ แผนที่ท่องเที่ยว เกม สื่ออินเตอร์เนต

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เกษตรยั่งยืนเมืองแพร่

การอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรยั่งยืนจังหวัดแพร่
…………………………………………………………………………………………………
ความเป็นมา
เครือข่ายเกษตรยั่งยืนจังหวัดแพร่ เป็นองค์กรชาวนาที่ต้องการปฏิรูประบบการทำนาของชาวนา ที่ถูกทำลายวิถีชีวิตของชาวนา และวัฒนธรรมการผลิตข้าว จนขาดความมั่นใจที่จะพึ่งตนเองจึงต้องพึ่งพาจากระบบเกษตรที่ใช้แต่พันธุ์ข้าวลูกผสมมาตลอด เกิดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง อันเนื่องมาจากปัจจัยการผลิต ด้านเมล็ดพันธุ์ พลังงาน ต้นทุนปุ๋ย ยา แรงงาน และฐานทรัพยากรอาหารลดลง ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรไม่ค่อยจะดีนัก แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไม่แน่ว่าจะส่งผลประโยชน์กลับมาที่ชาวนา รวมทั้งราคาอาหารที่แพงขึ้นก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง และส่งผลลบต่อคนจน ส่งผลกระทบต่อระบบพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เป็นการผลิตเพื่อการตลาดมาโดยตลอดไม่ได้เน้นผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร การใช้สารเคมีก็ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของชาวนาเอง ผู้บริโภค ระบบนิเวศของธรรมชาติ และระบบสาธารณสุข เป็นการสูญเสียเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมากมายทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงกระแส แต่เป็นสิ่งที่ทำให้หน่วยงานองค์กรทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เกิดความตระหนักเพื่อการผลิตซ้ำทางด้านความคิดในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทางเครือข่ายเกษตรยั่งยืน จึงได้ทำงาน ภายใต้แผนการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาวะ เป็นการสร้างกระบวนการคิดในการเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ให้มีอาหารที่ปลอดภัย อีกแนวทางหนึ่งในการผลิตซ้ำทางความคิดและสร้างความตระหนักให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้บริโภค ในเรื่องผลกระทบของสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาวะ ที่สามารถเป็นทางออกที่ดีให้กับสังคม และชาวนาได้เป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวได้ในสภาพปัจจุบันอย่างยั่งยืน ต่อไป
นิยามความหมาย
“ระบบเกษตรยั่งยืน” หมายความว่า การผลิตทางการเกษตร ตามวิถีเกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีการผลิตอาหารที่มีคุณภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาองค์กรเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น นำสู่การพึ่งตนเองของเกษตรกร ชุมชน และสังคมไทย ทั้งในด้านปัจจัยการผลิต อาทิ ที่ดิน พันธุกรรม แหล่งน้ำ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา เงินทุน รวมถึงการจัดการผลผลิตการแจก แลก ขายหลายระดับหลายรูปแบบที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคมที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติโดยรวมอย่างยั่งยืน
ได้ดำเนินงานเมื่อ ปี 2552 เป็นต้นมา ภายใต้โครงการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสุขภาวะชุมชน ภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ในการดำเนินการ ดังนี้
-ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
-ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
-ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
-ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่
-ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
-ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
-ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่
-ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน คือ
1.เพื่อให้เกิดรูปธรรมการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงานครอบคลุมด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค
2.เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรยั่งยืน ที่สามารถพึ่งตนเองได้ในการบริหารจัดการ รวมทั้งการมีกลไกเชื่อมประสานกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อเกิดพลังร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านในพื้นที่
3.เพื่อให้เกิดการพัฒนายกระดับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน และการรณรงค์เผยแพร่สู่สาธารณะ
4.เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับพหุภาคีในกระบวนการจัดการความรู้หลากหลายรูปแบบ อันเป็นพลังทางสังคมในการทำงานเชิงนโยบายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผลที่ได้รับจากการทำงานที่ผ่านมา
1.เกิดเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน ที่มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่สนใจ ปรับเปลี่ยนแบบแผน การผลิตสู่ระบบเกษตรยั่งยืน
2.เกิดองค์ความรู้ และนำไปสู่กระบวนการจัดการความรู้ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน
3.เกิดการขยายผลการจัดการความรู้สู่พื้นที่รูปธรรมการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้าน ที่คำนึงถึงมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
4.เกิดการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนที่มีการดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค
5.เกิดความเข้มแข็งในเครือข่ายระดับพื้นที่ให้มีสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านเมล็ดพันธุ์ ในการบริหารจัดการ และการเชื่อมประสาน
6.เกิดกลไกการประสานงานจากการเชื่อมร้อยพหุภาคี เป็นพลังร่วมทางสังคมในการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน และการทำงานเชิงนโยบายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตัวชี้วัดผลสำเร็จของแผนงาน
1.เกิดการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน 30 สายพันธุ์
2.เกิดศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้การคัด เพาะ และขยาย พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
3.เกิดการขยายผลให้เกิดการตระหนักในการเรียนรู้การคัด เพาะ และขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน 200 คน บนหลักการพึ่งตนเองที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านเมล็ดพันธุ์ อาหาร รายได้ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
4.เกิดความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นของ องค์กร และเครือข่ายเกษตรยั่งยืน ที่สามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องการบริหารจัดการ
5.เกิดยุวเกษตรกรคนรุ่นใหม่สืบทอดภูมิปัญญาการดำนา และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
6.เกิดการเชื่อมร้อยภาคีหุ้นส่วน และเครือข่ายยุทธศาสตร์ ให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ให้ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค
6.เกิดแผนผลักดันนโยบายส่งเสริมสนับสนุน และการติดตามเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค ข้าวพื้นบ้านสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7.ชุดเอกสารเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาวะ


กลุ่มเป้าหมาย
1.เกษตรกรผู้สนใจทั่วไป
2.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลน้ำชำ
3.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลทุ่งแล้ง
4.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลสบสาย
5.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลเวียงต้า
6.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลร่องกาศ
7.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลบ่อเหล็กลอง
8.กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่รักถิ่นกำเนิดบ้านสบสาย
9.กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนกองทุนสวัสดิการตำบลสบสาย
10.กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นตำบลสบสาย
11.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลห้วยหม้าย
12.เครือข่ายเกษตรยั่งยืนตำบลน้ำเลา
ภาคีความร่วมมือ
1.ศูนย์วิจัยข้าวแพร่
2.เกษตรอำเภอสูงเม่น
3.โรงเรียนบ้านสบสาย
4.สถานีอนามัยตำบลสบสาย
5.องค์การบริหารส่วนตำบลสบสาย
6.ประชาคมสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดแพร่
7.เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน
8.สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ (สปก.)
9.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสูงเม่น
10.เครือข่ายปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง (สปก.) จังหวัดแพร่

ข้อเสนอ
-ควรมีการบูรณาการกับกลุ่มงานในองค์กรภาคประชาสังคมแพร่ ?
-

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ดีดบ้าน (ความรู้จากปฏิบัติการ 1 หลัง)




อ่านแล้วสรุปได้เลยล่ะ

วิธีดำเนินการ
1. เข้าไปคุยกับเจ้าของบ้าน ถึงขอบเขตของการทำงาน อุปกรณ์ และ ค่าใช้จ่ายที่แต่ละฝ่ายต้องเตรียม มีแบบฟอร์มให้เติม เรียกอย่างน่ารักว่า "หนังสือเต็มใจให้ซ่อมบ้าน"
2. หาสล่า ปรึกษาเรื่องวิธีการ จำนวนคนที่ต้องใช้ ค่าแรงงาน นัดวัน
3. เตรียมอุปกรณ์คือ แม่แรง 5 ตัน 10 ตัน หรือ มากกว่า และ ไม้ค้ำยัน ไม้รองแม่แรง (หลายเล่ม แล้วแต่งาน)
4. เตรียมวัสดุปูน หิน ทราย น้ำ (ใช้กะบะคนปูน ไม่ต้องเลอะ ช่างมี)

5.ต่อไม้ค้้ำกับแม่แรงเพื่อยกเสา บากไม้ค้ำให้เข้ากับแวงบ้าน ตอกตาปูติดกับแวงกันไม้ค้ำหลุดถ้าแม่แรงล้ม
6.ยกได้ที่แล้วใช้ไม้อีกเล่มมาค้ำ ระวังเรื่องรองตีนไม้ กลัวจมดิน บางเสาต้องค้ำหลายเล่ม
7 ขุดรอบเสา ผสมปูนหินทราย เทรอบ
8.ถ้าจะให้ดี ต้องตัดตีนเสา ถ้าไม่ให้ขึดต้องถอกมาตัด จะตัดตอนตีนเสาลอยไม่ได้
9.มีแม่แรงมาก ไม้ค้ำมาก ทำหลายเสาได้

ในการทดลองครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าต้องใช้ค่าอะไรเท่าไหร่

ทำ "ใบเต็มใจซ่อมบ้าน" ให้เจ้าของบ้านเซ็น เพื่อให้รู้ว่าทางโครงการไม่ได้หวังอะไรโดยตรงจากเจ้าของบ้าน

กำลังพยายามเชื่อมโยงกลุ่มสวัสดิการในชุมชน


หนังสือเต็มใจซ่อมบ้าน

ข้าพเจ้า ( นาย / นาง / นางสาว )........................................................... อายุ ................ ปี
อยู่บ้านเลขที่ ............... หมู่ที่ ............. ตำบล .............................. อำเภอ. ...........................จังหวัดแพร่
ยินยอมให้ กองทุนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ช่วยเหลือซ่อมแซม บ้าน เลขที่ ............. หมู่ที่ ............. ตำบล ..................................... อำเภอ. ...........................จังหวัดแพร่ ของข้าพเจ้า เป็นหลังที่............................... ของการอนุรักษ์ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยืนนานต่อไป
โดยข้าพเจ้าผู้เป็นเจ้าของบ้านจะเป็นธุระ • จัดหาช่าง • จัดหาแรงงานผู้ช่วย • จัดหาอุปกรณ์ค้ำยัน • จัดหาแม่แรง • จัดหาวัสดุปูนซีเมนต์ • หิน • ทราย (ทำเครื่องหมาย  ในช่องที่ต้องการ ทั้งนี้จะเป็นไปตามสภาพบ้าน ความเดือดร้อน ฐานะเจ้าของบ้าน และ ฐานะทางการเงินของกองทุน ซึ่งแต่ละหลังจะไม่เหมือนกัน)
ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่ากองทุนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ เข้ามาช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเพื่อประโยชน์โดยตรงของข้าพเจ้า อย่างไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น และ เป็นการอนุรักษ์บ้านไม้เมืองแพร่ซึ่งเป็นหลักฐานถึงฝีมือพื้นบ้านที่มีอยู่ในเมืองแพร่ ให้อยู่ได้ต่อไปเพื่อคนรุ่นหลังศึกษาเรียนรู้ ได้ภาคภูมิใจในมรดกงานพื้นบ้านของตนเอง

ลงชื่อ ...................................................... เจ้าของบ้าน
(......................................................)

กองทุนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ขอชื่นชมเจ้าของบ้านที่มีความตั้งใจเก็บรักษาบ้านไม้ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หากบรรพบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นได้ทราบโดยญาณวิถีใดๆ ท่านต้องยินดีที่ลูกหลานรักษาบ้านให้ได้อยู่อาศัยอย่างผาสุกเป็นเวลายาวนาน

ลงชื่อ..........................................................ตัวแทนกองทุนฯ
วันที่ ..........................................................

คำนำ

เมืองแพร่ มีคนมากมายที่กำลังทำประโยชน์ หรือ พัฒนาบ้านเมือง และมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามเรียนรู้การรวมกลุ่มกันพัฒนา ซึ่งต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แรกสุดน่าจะเป็นหลักการที่ว่า คนเดียวไม่เก่งทุกอย่าง ต้องอาศัย "พี่รู้หนึ่งน้องรู้สอง" หลักการถัดมา น่าจะเป็น ความเข้าใจระหว่างเพื่อนร่วมกลุ่มว่าแต่ละคนพื้นฐานเป็นอย่างไร แรงรับแรงส่งเท่ากันไหม คิดมากคิดน้อยต่างกันไหม ถ้าเข้าใจแบบนั้นแล้วก็จะฟังกัน และก็จะได้สาระนำไปทำงานร่วมกัน

ถ้าหากคนกลุ่มนี้เข้าใจกัน เดินร่วมกันต่อไปได้ ก็จะก้าวหาความยากลำบากลำดับถัดมา คือ ขยายกลุ่ม เพิ่มจำนวนเพื่อนช่วยคิดช่วยทำ ซึ่งอาจเป็นคนวัยเกษียณ คนวัยทำงานคนหนุ่มสาวในวัยเรียน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเคยชินกับการรับบริการ ร้องเรียนขอความช่วยเหลือ ติดอยู่ในกระแสที่สังคมโถมทับเอาไว้ หรือ มัวยุุ่งแต่รับคำสั่งจากหน่วยบังคับบัญชา โดยไม่เข้าใจว่า ส่วนกลางนั้นก็ต้องการผ่องถ่ายการตัดสินใจมาสู่ระดับท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อยู่แล้ว

ส่วนผู้ที่คิดได้พึ่งตัวเองได้ ก็อาจไม่มีโอกาสได้เงยหน้าขึ้นมามองเห็นความเป็นกลุ่มก้อน นอกจากนั้น เราก็ต้องคิดต่อว่าที่ว่าขยายกลุ่มนั้น จริง ๆ แล้วหมายถึงการทำให้องค์กรนั้นโตขึ้น หรือ คนแบบเดียวกันนั้น ที่มีแนวคิดพัฒนาการอยู่การกิน รักษาดินน้ำป่า ฯลฯ ได้มองเห็นซึ่งกันและกัน แล้วเห็นพลังร่วมกัน

ข้อมูลที่คณะทำงานรวบรวมขึ้นนี้ มีจุดประสงค์แรกสุดคือ เผยแพร่ระหว่างคนทำงานด้วยกัน ว่างานที่ผ่าน ๆ มาว่าเป็นอย่างไร ที่ภาคีที่เราพอเห็นนั้นทำกันเรื่องอะไรบ้าง ยังมีอะไรที่เราอยากทำแต่ยังไม่ได้เริ่ม ประการที่สอง เราคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ บ้างเผื่อจะนำไปสานต่อได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็คือ อย่าเดินตกร่องเหมือนกับที่คนกลุ่มนี้เคยเดิน

ขนส่งสาธารณะในจังหวัดแพร่

สิ่งที่อยากเห็น ในเมืองแพร่เรื่องหนึ่งก็คือ ระบบการขนส่งสาธารณะ

วันที่ 7 กย. ข้าพเจ้า ไปสอบถามข้อมูลที่สำนักงานขนส่งจังหวัดแพร่ ได้สรุปงานมาเล่มหนึ่ง ระบุวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้ว่า "มุ่งจิตบริการ พัฒนาการขนส่ง เทคโนโลยีก้าวหน้า ประชาเป็นสุข" รายงานเล่มนี้ทำให้ทราบว่า ในปี 2554 สำนักงานฯ เก็บภาษีรถได้ถึง 66 ล้านบาท (ต.ค.53-พ.ค.54) ถ้าครบ 12 เดือนคงจะมากกว่าปี 2553 (ต.ค.52 - ก.ย.53) ที่เก็บได้ 97 ล้านบาท จากรถทุกประะเภท ตั้งแต่รถนั่งส่วนบุคคล จนถึง รถแทรกเตอร์หรือรถที่ใช้งานเกษตรกรรม ที่มีจำนวนถึง 214,275 คัน นอกจากนั้นทำให้ทราบว่า เมืองแพร่มีรถรับจ้างวิ่งบริการอยู่ถึง 20 สาย ใครเคยนั่งสายไหนบ้าง

ข้าพเจ้าขอชวนคิดว่า "ถ้าเดินทางจากสะเอียบ ไปสรอย โดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้รถโดยสาร จะใช้เวลาเท่าไหร่?" ชวนคิดอีกว่า " ถ้ามีรถประจำทาง เด็กนักเรียนจะต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ หรือไม่? และจะลดหนี้สินหรือไม่"

การที่เมืองแพร่ไม่นิยมรถประจำทาง มันน่าจะเป็นปัญหาไก่ก่อนไข่มั้ย ถ้าเราส่งเสริม/หนุนให้รถประจำทางวิ่งเป็นเวลา ประชาชนจะใช้ไหม จะประหยัดพลังงานแค่ไหน จะทำแบบรถเมลล์ฟรีที่ กทม. ทำ ได้ไหม?

เจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าศึกษาอะไรได้ความอย่างไร ก็ขอเล่มหนึ่ง

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้งานข้อมูล

เรากะไว้คือ เพื่อการเรียนรู้ระหว่างคนแพร่ด้วยกัน โดยเฉพาะคณะทำงาน อาจได้เป็นเล่ม ถ้าข้อมูลดี ๆ อาจใช้สำหรับทำแผนแม่บทชุมชนในภายหน้า ถ้ายังไม่ได้ ก็ค่อยพัฒนาไป

แนวเขียนที่ต้องการจากทุกข่ายทุกประเด็น

การรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ อยากได้จากผู้ปฏิบัติงานจริง ๆ ทุกท่าน ทุกข่ายเท่าที่เป็นไปได้

ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะคนที่ได้รับทุนจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง อยากเป็น "คนพัฒนาเมืองแพร่" ด้วยกัน

ขอให้ช่วยเขียน 3 อย่าง ส่งมาให้ที่ e-mail : wuttikai@gmail.com หรือเขียนเป็นกระทู้ลงบล็อกได้เลย

1. ที่มาของเรื่อง สัก 10 บรรทัด
2. การดำเนินงานปัจจุบัน สัก 10 บรรทัด
3. ข้อเสนอแนะ สัก 10 บรรทัด
ลงชื่อผู้เขียน พร้อมที่อยู่ / โทรศัพท์ ให้ติดต่อกลับได้ด้วย

สำหรับประเด็น หรือ ข่ายใด ที่ไม่มีใครส่งเรื่องแต่คณะทำงานพอรู้เรื่อง ก็จะพยายามเขียนให้

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

วิธีการดำเนินการ ระยะเวลา

1. วางแผนโครงเรื่อง กระบวนการทำงาน

2. ขอข้อมูล เรื่อง ภาพ นำเสนอบนบล็อกนี้

3. ย่อข้อมูล โดยคงสาระสำคัญ และ อ้างอิงที่มาให้ค้นกลับไปหาข้อมูลต้นได้

4. เรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว นำเสนอบนบล็อกนี้

5. เวทีตรวจทานข้อมูล

6. จัดทำเป็นรูปเล่ม รอพิมพ์

ระยะเวลาทำงาน 1 กันยายน - 15 พฤศจิกายน 2554

หัวข้อที่รวบรวม

หมวด 1.

เก็บ รวบรวมข้อมูลจาก 34 พื้นที่ และ ประเด็นขับเคลื่อน ของภาคประชาชน
ในพื้นที่ใช้งบประมาณของ พอช. และ ประเด็นต่าง ๆ อาทิ
เกษตรยั่งยืน หมอเมือง โฉนดที่ดิน เยาวชน เมืองเก่า
สวัสดิการ ผู้หญิง แผนแม่บทชุมชน บ้านมั่นคง สื่อ
วัฒนธรรม และผู้สูงอายุ ธนาคารต้นไม้ เวทีสมัชชา
เวทีประชาธิปไตยชุมชน สภาองค์กรชุมชน สภาการเมือง


หมวด 2.

เก็บข้อมูลจากกิจกรรมพิเศษตามความสนใจ อาทิ
ความรู้ที่ได้จากการดีดบ้านหนานกั่น (ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่)
ความรู้จากเวทีสืบค้นเรื่องรถไฟสายแรกของแพร่ (สภาองค์กรชุมชนหัวฝาย)
ความรู้เรื่องรถโดยสารสาธารณะของจังหวัดแพร่ (ข่ายลูกหลานเมืองแพร่)


หมวด 3.

ข้อมูลทั่วไปที่ชาวบ้านเล่าขาน หรือ เป็นประเด็นสนใจ


หมวด 4.

ข้อมูลจากหน่วยราชการ หรือ งานวิจัยต่าง ๆ เช่น
สุขภาพ อนามัย (สาธารณสุข)
การเก็บภาษี อากร (สรรพากร สรรพสามิต)
ภาวะการคลัง การเงินของจังหวัดแพร่ (คลัง)
การค้า
ทางรถไฟสายเด่นชัย เชียงราย
ข้อมูลลุ่มน้ำแม่ยม

ต้นเรื่อง

การกระจุกตัวของอำนาจในส่วนกลาง ทำให้เกิดปัญหามากมาย หลายประเทศทั่วโลกจึงพยายามกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน นักพัฒนาชาวไทย จึงคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเองขึ้นมา ชวนคนในแต่ละจังหวัดลุกขึ้นมาขับเคลื่อน กลุ่มหนึ่งในจังหวัดแพร่ จึงพยายามรวมรวมข้อมูลของจังหวัดแพร่ในด้านต่าง ๆ โดยเน้นในส่วนที่เกิดจากกิจกรรมของภาคประชาชน

ข้อมูลที่ได้จะพยายามนำเเสนอต่อสาธารณะผ่านบล็อกนี้ เชิญทุกท่านเพิ่มเติมโดยการส่งกระทู้เข้ามาแสดงความเห็น

โครงการนี้ใช้งบประมาณของ โครงการหนุนเสริมการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสำนึกการเป็นเจ้าของชุมชนท้องถิ่นจังหวัดแพร่ สภาพัฒนาการเมือง