วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เพลงเมืองแป้บ้านเฮา


บทความนี้เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ไม่เป็น กลาง และเต็มไปด้วยความชื่นชมส่วนตัว *** ตั้งแต่ได้รู้จักกับน้อง ๆ วงกาสะลอง ที่มาร่วมแสดงในงานแอ่วกาดกองเก่า ที่ถนนคำลือ เมื่อปลายปีที่แล้วสิ่งหนึ่งที่ประทับใจต่อวงดนตรีนี้คือการที่ทุกคนมีน้ำใจ และอยากเห็นสิ่งดีดีเกิดขึ้นในบ้านเกิดอันเป็นที่รัก น้องๆเล่าให้ฟังว่าได้เห็นสิ่งดีจากเชียงใหม่ที่มีวงดนตรีไม้เมือง เล่นในกาดถนนงัวลาย พอมาเห็นว่าที่เมืองแพร่อยากจะจัดตลาดนัดพื้นเมือง ทีมวงกาสะลองไม่รอช้า ไม่ต้องไปเชิญ แค่เห็นใบปลิวก็แทบจะรีบปลิวมาร่วมและยังใจดีเอาผลงานมาแจกฟรีๆให้ พ่อ แม่ พี่น้องในกาดกองเก่าได้ติดมือกลับบ้านไปด้วย แค่นี้ก็น่าปลื้มแล้ว และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมก็ได้ฟังผลงานเต็มอัลบั้มของกาสะลอง ชื่อชุดว่า “เมืองแป้ บ้านเฮา” แนวดนตรีเป็นโฟล์คป็อปคำเมืองผสมสะล้อ ซอ ซึง และดนตรีพื้นเมืองอีกหลายชิ้นถือเป็นนวัตกรรมทางดนตรีพื้นเมืองที่น่าสนใจ ผมจะลองเล่าเนื้อหาให้อ่านกันนะครับ



เริ่มจากเพลงแรก เป็นเพลง เมืองแป้บ้านเฮา ดนตรีฟังสบายๆรื่นหู พร้อมด้วยเสียงสะล้อหยอกล้อ คลอไปตลอดเพลงไปกับเสียงร้องของน้องวิว จุฑาทิพท์ ฝั้นแบน ที่ถือว่าเป็นจุดขายหลักด้วยน้ำเสียงที่ออกแนวลูกทุ่งนิดนิด เนื้อเพลงเป็นเหมือนหนังสือหน้าแรกที่แนะนำสถานที่ ลักษณะทางกายภาพคร่าวๆของเมืองแพร่ มีรายชื่ออำเภอต่างๆทั้งแปดถ้าให้เด็กๆหัดร้องคงจะดีไม่น้อยจะได้จำได้ว่า เมืองแพร่มีอำเภออะไรบ้าง เพลงนี้น่าจะฟังติดหูไม่ยาก คะแนน8/10

เพลงที่สองเป็นบัลลาด เล่าเรื่อง พระลอและพระเพื่อนพระแพง วรรณกรรมอมตะชิ้นหนึ่งของชาติ ยังคงเป็นเสียงร้องของน้องวิว เสียงสะล้อยังคงร่วมสร้างไปพร้อมๆกับเสียงซึงและกลองจังหวะเนิบช้าคล้ายๆ กลองอืด ชวนสลดใจไปกับโศกนาฏกรรมที่ทั้งสามได้พบ เนื้อร้องยังไม่ได้เล่าเรื่องราวต่างๆอย่างที่ควรจะเป็น เพียงเป็นเรื่องราวสรุป โดยอาจจะทำให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินอาจจะงง หรือต้องตามไปอ่านวรรณกรรมเป็นการบ้านมาก่อน แต่ภาคดนตรีละเมียดละไมสมเป็นเพลงรักมาก เอาไป 7/10 หักคะแนนตรงเนื้อร้องนะครับ

(เด็ก)หล่ายดอย เนื้อหาเล่าเรื่องชีวิตเด็กที่ต้องมาเรียนต่างบ้านต่างเมือง ประมาณข้ามอำเภอมาอยู่ไกล พ่อแม่ ด้วยความตั้งใจจะร่ำเรียนให้สำเร็จ ด้วยจังหวะเพลงที่ช้า อาจจะฟังแล้วให้เหงา เศร้าและคิดถึงบ้านด้วย จุดประสงค์และเนื้อหาทำนองเป็นไปทางเดียวกัน แต่ด้วยว่าทั้งอัลบั้มมีเพลงจังหวะคล้ายๆกัน คนที่ไม่ชอบเพลงฟังช้าๆ อาจจะอึดอัด เพลงนี้ได้ใจผมไปเต็มๆในแง่ที่ทำออกมาตรงจุดแต่ตอดตรงชื่อเพลงที่ขึ้นต้น ว่า”เด็ก” เลยขอเอาวงเล็บมาใส่ให้ เอาแค่หล่ายดอยก็พอ ให้คนฟังไปคิดเองว่าทำไมต้องหล่ายดอย 8/10

ลุ่มน้ำยม เล่าเรื่องที่มาของน้ำยมแม่น้ำสายใหญ่สายหลักที่ไหลผ่านแพร่ แฝงด้วยแนวคิดอนุรักษ์เข้าไปด้วย ว่าคนเราควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติในช่วงที่แต่งเพลงนี้น่าจะเป็นช่วงที่น้ำ เอ่อท่วมเมืองแพร่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม๒๕๕๔

สวัสดีเวียงโกศัย เป็นเพลงเอก เพลงแรกที่ออกมาก่อนเพื่อนและยังได้รับเลือกให้เป็นเพลงต้อนรับนักท่อง เที่ยวในงานเปิดตัวเชิญชวนในงานของททท.สำนักงานแพร่ บางคนอาจจะเคยได้ยินมาก่อนนี้แต่เวอร์ชั่นนี้สมบูรณ์กว่าแผ่นแจกที่โปรโมทใน แอ่วกาดกองเก่า ครบเครื่องกว่า เนื้อหายังไม่ค่อยลงตัวนักแต่ทำนองรื่นหู บวกกับเสียงของน้องวิวที่ทำให้คนจะชอบและรักเพลงนี้ไม่ต่างจากเพลง “เมืองแพร่บ้านเฮา” 8/10

เด็กศิลป์ เพลงนี้มาแบบเพลงของ ฌามาเลยเนื้อหาเป็นเรื่องราวของเด็กอาชีวะสายศิลป์ตรงๆเลย ทำนองเร็วขึ้นกว่าเพลงอื่นๆฟังสนุก กว่าทุกเพลงเอาไว้เรียกแขกได้ดี ร้องโดยน้องนิว วิฬารีย์ ชอบงาน นักร้องสาวหล่อของวงกาสะลองที่เนื้อเสียงคล้ายๆกันแต่พลังและลำดับการไต่ เสียงจะด้อยกว่าน้องนิวไปนิดนึง 7/10

ลูกแม่ญิง เนื้อหาต้องการสอนหรือบอกให้เด็กหญิงในยุคนี้ ไว้นวลสงวนตัว รักศักดิ์ศรี รักในเกียรติของตัว โดยเนื้อหาเพลงอาจจะสวนทางกับเด็กๆรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ จนดูเป็นเรื่องล้าสมัยเอาไปเลย 9/10

เหนือเมฆ เพลงที่เล่าเรื่องกำแพงเมืองแพร่ และความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิดยังคงมีสะล้อเข้ามาแอบขโมยความเด่นในบาง ช่วง พูดตามตรงว่าการเรียงเรียงดนตรีเกือบทั้งหมดของกาสะลองจะให้ความสำคัญกับ ดนตรีพื้นเมืองมากกว่าดนตรีสากลที่เดินปูพื้นเป็นแบ็คกราวด์ให้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของวงเหมือนที่เขียนไว้ในปกซีดีที่ต้องการนำดนตรีพื้น บ้านมาให้คนรุ่น ไอโฟนได้ฟัง 8/10

ซิ้งม้อง มองเซิง เพลงจังหวะพื้นเมืองผสานกับ ลีลาสะล้อที่โดดเด่น (อีกแล้ว) เนื้อหาเล่าถึงการรักษาประเพณี สิลปะวัฒนธรรมของคนเมืองให้อยู่สืบไป ธรรมดาเรียบง่ายแต่ได้ใจ 8/10

กาสะลอง เป็นชื่อดอกไม้ หรือชื่อของวงดนตรี เพลงนี้สื่อความหมายได้ดีทั้งการตั้งชื่อวงดนตรีที่บอกตัวตนของนักร้องนัก ดนตรีได้ชัดเจน มีความตั้งใจมนการทำงานสูง เนื้อเพลงทั้งหมด เขียนโดย ปิยศักดิ์ ปิ่นทอง ส่วนภาคดนตรีก็ช่วยกันทำ ช่วยกันเรียบเรียง โดยมีคุณเจริญ ไชยมงคลเป็นผู้เรียบเรียงหลัก

เพลงพิเศษ เป็นเพลงเล่าเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านมุมมองธรรมดาๆที่หลายคนคุ้นเคย กลายเป็นความเคยชินที่ต้องล้อมวงมาดูโทรทัศน์ในช่วงสองทุ่ม หรือยี่สิบนาฬิกาของทุกวัน ซึ่งเราหลายคนคงได้เห็น ได้สัมผัสกันตลอดมาที่พระองค์ทรงครองราชย์

ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สง่างามและชัดเจนของ ชาวกาสะลองที่ประกอบด้วย จุฑาทิพย์ ฟั่นแบน (ร้องนำ) วิฬารีย์ ชอบงาน (ร้องนำ) ไตรภพ คุ้มงาม (สะล้อ) เจริญ ไชยมงคล (กีต้าร์) และปิยศักดิ์ ปิ่นทอง(กีต้าร์ ซึง ขลุ่ย ฮาโมนิก้า) ทั้งหมดจัดทำในเมืองแพร่ บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงบ้านเพลงเก่า หากท่านเป็นคนเมืองแพร่ และรักเมืองแพร่ ขอแรงใจสนับสนุนผลงานและความตั้งใจเพลงฟังเพราะๆทั้งแผ่นซึ่งยุคนี้จะหาได้ ยากว่าจะมีเพลงชุดไหนทำออกมา อีกอย่างไม่อยากให้ก็อปปี้มาแจกกันนะครับเห็นใจคนทำงาน และความตั้งใจที่อยากให้บ้านเมืองเรามีของดีดีอย่างนี้ออกมาอีกเป็นกำลังใจ ให้ด้วย หากสนใจติดต่อโดยตรงที่ คุณปิยศักดิ์ ปิ่นทอง ๐๘๒ ๐๓๕ ๗๑๖๒ หรือที่ร้านกาสะลอง วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ก็ได้ หรือเข้าไปใน www.youtube.com พิมพ์ในช่องค้นหาว่า เมืองแป้บ้านเฮา ก็จะได้ฟังตัวอย่างครับ แต่ถ้าอยากฟังสดๆ แวะมาแอ่วกาดกองเก่า ทุกแลงวันเสาร์ตั้งแต่บ่ายสามโมงถึงสองทุ่ม ถนนคำลือสี่แยกพระนอนเหนือ(บ้านวงศ์บัรี)ถึงประตูมาน

*** ส่วนตัวผมฟังหลายรอบแล้วยืนยันว่า หนึ่งร้อยยี่สิบบาทคุ้มค่าจริงๆกับเพลงชุดนี้***

ชินวร ชมพูพันธ์

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ย่อเรื่องเพียง 30 หน่วยงาน

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่อนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมชุมชน ท้องถิ่นและความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ยั่งยืน กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ งานขนมเส้นเมืองแพร่ งานประเพณีไหว้พระธาตุจอมแจ้ง ประเพณีกำฟ้า เป็นต้น

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่จัดที่ดินและที่อยู่อาศัยให้เกษตรกร ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตปฏิรูปที่ดิน พัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการเรียนรู้ หน้าที่หลักๆ ได้แก่ จัดหาที่ดินของรัฐและซื้อที่ดินเอกชน สำรวจรังวัดและทำแผนที่เพื่อการปรับปรุงสิทธิ จัดที่ดินทำกินและที่ดินชุมชน ปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน

สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ ๓ (ภาคเหนือ) มีหน้าที่เกี่ยวกับการสนับสนุน หรือร่วมปฏิบัติภารกิจด้านป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ห้องสมุดประชาชนจังหวัดแพร่จัดสถานที่ให้บริการทางด้านการค้นคว้าหาความรู้ ข่าวสารและข้อมูล ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเอกสาร สิ่งพิมพ์ สื่อทางด้านความรู้และความบันเทิงในทุกด้าน จัดการให้บริการความรู้แก่ประชาชน พัฒนาห้องสมุดประชาชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ในด้านการวางแผนการประชาสัมพันธ์รวบรวมข่าวสารทางราชการ องค์กร หน่วยงาน มูลนิธิ สถาบันการศึกษา ของจังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ โดยการใช้สื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หอกระจายข่าว เสียงตามสาย สื่อบุคคล สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (INTERNET)

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่สื่อวิทยุกระจายเสียงหลักของจังหวัดแพร่ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ทั้งใน ภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ด้วยการบูรณการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

สำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่จัดทำฐานข้อมูลทางด้านพลังงานของจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ให้บริการข้อมูลทางด้านพลังงาน ถ่ายทอด สนับสนุน องค์ความรู้ด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพการมัธยมศึกษาให้นักเรียนเป็นพลโลก ดำรงเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นตามมาตรฐานการศึกษา ภายในปี 2557

วิทยาลัยชุมชนแพร่จัดการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีและจัดการฝึกอบรม ส่งเสริมความรู้ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อศักยภาพจังหวัดและความต้องการของชุมชนอย่างทั่วถึง บูรณการร่วมกับชุมชนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น

โรงพยาบาลแพร่ให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ผสมผสาน ต่อเนื่อง ที่พอเพียงอย่างยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง พัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ร่วมผลิตแพทย์ และบุคลากรด้านสาธารณสุข

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่ สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และองค์กรชุมชน สู่มาตรฐานสากล

สำนักงานที่ดินจังหวัดแพร่พัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่และข้อมูลที่ดิน เพื่อสนับสนุนการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ ให้สอดคล้องตามเกณฑ์การผังเมือง ตลอกถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ของท้องถิ่น บริหารจัดการที่ดินของรัฐ ให้มีปรพสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่พัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน

สำนักงานคลังจังหวัดแพร่เป็นองค์กรหลักและศูนย์กลางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ กฎหมายการเงินการคลังบัญชี และการพัสดุภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจการเงินการคลังของจังหวัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้บริการเดินรถไฟ โดยได้เปิดการเดินรถ ระยะทางทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร และมีโครงการพัฒนาตามกิจกรรม เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ชำรุด โครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน โครงการก่อสร้างทางคู่

สำนักงานยุติธรรมจังหวัดแพร่ประสาน ส่งเสริม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอำนวยความยุติธรรมกับทุกภาคส่วน พิทักษ์ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสวัสดีภาพรวมทั้งทำให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงความยุติธรรมด้วยความเสมอภาค ทั่วถึง

สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดแพร่ รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและบริษัทจำกัด ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ออกหนังสือรับรองรายการทางทะเบียน ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล รวมทั้ให้บริการตรวจค้น การคัดสำเนา เอกสารทางทะเบียน

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ พัฒนาเศรษฐกิจการค้าของจังหวัด โดยร่วมมือกับภาคราชการ หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และสถาบันการค้าที่บทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการค้าของจังหวัด ดำเนินการจัดระเบียบการค้าของจังหวัด รวมทั้งวางแผนและปฏิบัติการส่งเสริม สนับสนุนภาคธุรกิจการค้าให้มีความสามารถในการแข็งขัน

สำนักงานขนส่งจังหวัดแพร่จัดระเบียบ พัฒนา และส่งเสริมการขนส่งและการสัญจรทางถนน ให้มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วเป็นธรรม คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน

กรมการค้าภายในจังหวัดแพร่พัฒนาและส่งเสริมระบบตลาด การตลาด และตลาด ให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสและให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร กำกับดูแลการค้าสินค้าและบริการ และการชั่งตวงวัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการดูแลราคาและพฤติกรรมทางการค้า

ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดแพร่ (POC)ทำหน้าที่เป็น Front Office เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของจังหวัดในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็น Web Site ในการให้บริการประชาชนทั่วไป ทำหน้าที่เป็น Back Office เพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงกลยุทธ์ในการบริหารราชการและการวินิจฉัยสั่งการของผู้บริหาร ทั้งภายในจังหวัด และเชื่อมโยงกับ ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (MOC) ศูนย์ปฏิบัติการกรม (DOC) และจังหวัดต่างๆ (POC)

สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแพร่ดำเนินคดีอาญาทั้งปวงที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งมีอายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ในวันกระทำความผิด ว่ากระทำความผิด โดยเด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ หรือกระทำความผิดในเขตอำนาจของศาล จังหวัดแพร่ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

ศูนย์ข้อมูลการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาการเกษตรรายสินค้า แผนบูรณการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และการจัดทำงบประมาณด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

สำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่บริการจัดหางานให้แก่คนหางานและประชาชน บริการจัดหางานพิเศษ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนพิการ ทหารปลดประจำการ บุคคลบนพื้นที่สูง ผู้พ้นโทษและผู้บำบัดยาเสพติด บริการจัดหางานให้แก่ผู้ประกันตนกรณีว่างงานตามระบบประกันสังคม

สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แพร่วิจัยพัฒนา อนุรักษ์สัตว์พื้นเมือง ถ่ายทอดเทคโนโลยี กระจายสัตว์พันธ์ดี สู่เกษตรกร เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับพันธุ์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้มีคุณภาพสูง เพื่อจัดสร้างแปลงหญ้าอาหารสัตว์

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่สามารถพัฒนาด้านการศึกษา, การพัฒนากีฬาและกิจกรรมนันทนาการ, การพัฒนาเศรษฐกิจ, การพัฒนาเกษตรกรรมในครัวเรือน, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาสาธารณสุข, การพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาส, การพัฒนาการเมืองการปกครอง, การอนุรักษ์พัฒนา และส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น,การพัฒนาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ถวายความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุดป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนรวมอำนวยความยุติธรรม โดยยึดหลักนิติธรรม ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมโปร่งใส และตรวจสอบได้
ควบคุมและจัดการจราจรเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เป็นองค์กรนำการปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลกวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาโรคสัตว์ กำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ด่านกักกันสัตว์แพร่ควบคุมดูแลการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกชนิด สัตว์ปีกทุกชนิด (รวมทั้งนกทุกชนิด) รวมทั้งซากของสัตว์ ทั้งภายในท้องที่และข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ควบคุมป้องกันและกำจัดโรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์ติดคน
ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ค้าสัตว์ ประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์ โดยทั่วถึง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่พัฒนากลไก รูปแบบวิธีการการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง กำกับ ดูแล สถานประกอบการ ประสานงาน เครือข่าย องค์กรท้องถิ่น ในการบริหารจัดการให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี พัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพแบบองค์รวม แก่ประชาชนตามเกณฑ์มาตรฐาน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฝายยักษ์(ปู่ละหึ่ง)


สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเดือนที่ผ่านมาครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง น้ำท่วม และต่างๆนานาสารพัด สำหรับเรื่องที่จะจับประเด็นกันคงไม่พ้นเรื่องน้ำครับซึ่งกำลังดุเดือดกันมากเลยช่วงนี้ เมืองแพร่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครับ จึงได้มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อประชาชนในพื้นที่และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีโครงการ "ชาวแพร่ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว สร้างฝายถวายพ่อหลวง ๘,๔๐๐ ฝาย" เราได้ติดตามโครงการไปที่บ้านนาคูหา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว



พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รูปแบบและลักษณะฝายนั้นได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ ”

“.......สำหรับต้นน้ำไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตามสำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก......” การสร้างฝายเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูป่า โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นฝาย จึงหมายถึง สิ่งที่ก่อสร้างหรือกั้นขวางทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง ในกรณีของจังหวัดแพร่ที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 8,400 ฝาย ทั่วจังหวัดแพร่ ตามโครงการ ชาวแพร่ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อถวายพ่อหลวง ได้เกิดคำถามขึ้นจากชาวตำบลสวนเขื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ ว่าแท้จริงแล้ว ฝายจะอำนวยประโยชน์ให้กับชาวบ้านจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลที่ได้ในขณะนี้ทำให้หลายๆฝายเริ่มสงสัยถึงประโยชน์ที่แท้จริง

บริเวณด้านหน้าเขื่อน ที่มีการสร้างอย่างใหญ่โต ทำให้คนในชุมชนและผู้ที่มาช่วยงานเกิดความสงสัย เพราะตามความเข้าใจของคนทั่วไปการสร้างฝาย หมายถึงการทำสิ่งที่ขวางกั้นทางน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่โต และเหมาะสมกับสภาพของบริเวณที่ต้องงการสร้าง หากพิจารณาถึงขนาดของลำธารที่อยู่ด้านล่างกับภาพของฝายที่สร้างนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างฝายว่า การสร้างฝายโดยหลักๆ มี 3 ประเภท คือ ฝายแบบผสมผสาน ฝายกึ่งถาวร และฝายแบบถาวร ซึ่งฝายแบบผสมผสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดักตะกอนและเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ไหลมากับน้ำ และช่วยลดความเร็วหรือชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานนี้ ลำห้วยควรมีความกว้างประมาณ 3 – 5 เมตร ลึกประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ส่วนฝายแบบกึ่งถาวร เป็นฝายชนิดหินก่อคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นฝายที่มีความมั่นคงแข็งแรงพอสมควร ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างบริเวณ Second Order Stream หรือ Third Order Stream ของลำห้วย และสุดท้ายฝายแบบถาวร เป็นฝายชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความมั่นคงแข็งแรงซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในตอนปลายของลำห้วย
จากภาพที่เห็นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วฝายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้เป็นฝายแบบไหนกันแน่ เพราะจากโครงสร้างที่เห็น ไม่ได้มีการใช้คอนกรีตเสริมใยเหล็ก ใช้โครงสร้างเป็นไม้ไผ่แล้วเทคอนกรีตทับ ส่วนด้านข้างของลำห้วยก็ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นแนวขึ้นบันไดแล้วก็เทปูน

สิ่งที่คนในชุมชนเริ่มหวาดกลัว คือจะมีความแข็งแรงหรือไม่ ในอนาคตจะเกิดการถล่มของดินบริเวณนั้นหรือเปล่า เพราะหากดูตามโครงสร้างของไม้ไผ่แล้ว ไม้ไผ่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรงในระดับที่ไม่มาก เกิดการผุพังได้ง่าย หากในอนาคตไม้ไผ่บริเวณนี้เกิดการผุพังแล้วคอนกรีตที่อยู่ในบริเวณเดียวกันก็อาจจะผุพังตามด้วยได้
ผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด คำถามเหล่านี้ จึงเป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่เกิดจากการสงสัยของชาวบ้าน และกำลังรอคอยคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



บทความข่าวเกี่ยวข้องเพิ่มเติมhttp://www.thainewsagency.com/region-news/11/09/2011/37597/

มุมนักธุรกิจ มองไปข้างหน้า อยู่กับชุมชน น้ำ

คอมมูนิตี้ มอลล์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลจากน้ำท่วมอาจเป็นแรงส่งเร่งอัตราการเติบโต

โพสต์ทูเดย์ 14 พย 54

คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Colliers International Thailand) รายงานอสังหาริมทรัพย์ภาคค้าปลีกในกรุงเทพฯ ไตรมาสที่ผ่านมา ระบุว่า มีคอมมูนิตี้ มอลล์แห่งเดียวที่เปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 และยังมีอีกหลายแห่งจะทยอยเปิดตามมา ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนพื้นที่รวมของคอมมูนิตี้ มอลล์มากกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ต นางอัจฉราวรรณ วจนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตัวแทนการขายและหาผู้เช่าธุรกิจค้าปลีกอธิบายว่า น้ำท่วมอาจเป็นผลให้เจ้าของโครงการหลายรายหันมามองหาทำเลสำหรับคอมมูนิตี้ มอลล์ในย่านที่ไม่เคยพิจารณามาก่อน

“เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม ประชาชนต้องการสถานที่ซื้อสินค้าใกล้บ้านที่พักผ่อนหย่อนใจได้พร้อมๆ กับสัมผัสบรรยากาศความเป็นชุมชน” นางอัจฉราวรรณให้ความเห็น

ในบริเวณที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม การสร้างคอมมูนิตี้ มอลล์จำเป็นต้องคำนึงถึงความสูงของอาคารชั้นล่างสุดเนื่องจากต้องเข้าออกได้ ตลอดเวลา ทั้งต้องมีอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาสำรองเตรียมไว้เป็นอย่างดี บางแห่งต้องคำนึงถึงบริการพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับบริเวณทำความ สะอาดและสุขอนามัย เพราะแม้แต่ในช่วงฝนตกหนักก็อาจเกิดปัญหาได้ และประชาชนอยากรู้สึกสบายใจเวลาอยู่ในห้าง นอกจากนั้นความเป็นชุมชนจะทวีความสำคัญมากขึ้น

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 อุปสงค์เติบโตช้าลงเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 โดยอุปสงค์ที่แล้วเสร็จรวมประมาณ 11,000 ตรม. ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์เพียงแห่งเดียว โดยทั่วไป ศูนย์ค้าปลีกมักเปิดให้บริการในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายของปีเพื่อเตรียม พร้อมรองรับช่วงเทศกาลซึ่งเป็นช่วงขายดี พื้นที่ค้าปลีกใหม่ 260,000 ตรม. มีกำหนดจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ได้แก่ เทอร์มินัล 21 และเซ็นทรัลพระราม 9 นอกจากนั้นยังมีเซ็นทรัล เวิลด์ซึ่งจะเปิดให้บริการครบทุกส่วน อัตราค่าเช่าพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และอัตราการครอบครองเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

น้ำท่วมในครั้งนี้เน้นให้เห็นปัญหาของการกระจายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะ และชั้นวางสินค้าในห้างหลายแห่งถูกจับจองจนหมด ในขณะที่อีกหลายแห่งยังมีสินค้าสต็อกในปริมาณมากพอ โดยนายปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการของคอลลิเออร์สฯ กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกต้องกลับไปทบทวนการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ของตนหลังเกิดความเสีย หายอย่างรุนแรงจากน้ำท่วม

“จำเป็นต้องมีคลังหลายๆ แห่งในการจัดส่งสินค้าจำเป็นมายังศูนย์กลางการค้าปลีกในกรุงเทพฯและตัว จังหวัด เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศูนย์กระจายสินค้าเพียงเดียว นอกจากนั้นคลังสินค้าต้องตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและเชื่อมต่อกับทางยกระดับได้ ง่าย” นายปฏิมาชี้แจง และยังเสนอแนะให้รัฐบาลตั้งศูนย์คลังสินค้าฉุกเฉินเพื่อจัดเก็บสินค้าที่ไม่ เสียง่าย เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดและอาหารกระป๋อง ทั้งภาคค้าปลีกเอกชนและภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับแผนสำรอง ไม่เพียงแต่เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม แต่ยังต้องเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว

“เราต้องไม่ดูเพียงแต่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว เพราะเมื่อไม่นานมานี้เอง ทุกคนยังวิตกกังวลเรื่องแผ่นดินไหวกันอยู่เลย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเตรียมตัวรับภัยพิบัติหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น" นายปฏิมาเสริม

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับน้ำท่วมก็คือจำ จำนวนร้านชำที่เลือกสร้างแนวป้องกันด้วยคอนกรีตแทนการเลือกใช้ถุงทราย นายโทนี พิคอน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยให้ข้อมูลว่า หลายๆ ร้านเกิดความวิตกกังวลว่า หากน้ำท่วมจะท่วมนานเกินหนึ่งเดือน

"เจ้าของร้านส่วนใหญ่ตระหนักว่าถุงทรายไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการรับ มือกับน้ำท่วมระยะยาว ประกอบกับมีเวลาสร้างแนวป้องกันที่แข็งแรงกว่า" นายโทนีกล่าว ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่คงป้องกันเท่าที่ทำได้แต่นายโทนีแนะนำให้หาวิธีการ ป้องกันที่ดีกว่านี้หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมบรรเทาลง

คนส่วนใหญ่จะใช้ฤดูที่ฝนไม่ตกในการขบคิดหาวิธีการป้องกันทรัพย์สินของตน เองให้ดีขึ้นและอาจพิจารณาเลือกใช้แผ่นอลูมิเนียมหรือเหล็กแบบถอดได้ที่ สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว หลายประเทศประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ออสเตรเลียและอังกฤษซึ่งเป็นผลให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ความจำเป็นคือแรงผลักดันให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น และในกรณีนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันน้ำท่วมนวัตกรรมใหม่

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ช่างซอเมืองแพร่

ช่างซอเมืองแพร่

โดยช่างซอ โชคชัย (ถามตอบกับ ศรีสว่าง นริศ)

เผยแพร่ในเฟสบุค

เมืองแป้มีคณะซอปี่กี่คณะอ่าครับ

ตอนนี้ ถ้าเอาจริงๆ เหลือแค่สองคณะครับ คณะที่ดังที่สุด คือคณะ สุวรรณ นงคราญ แต่ พ่อสุวรรณพึ่งเสียชีวิตไปครับ ที่เหลือจะมีคณะแม่ครูพะยอม และก็คณะ อนุรักษ์ศิลป์ ของอาจารย์ ประหยัดครับ

อ่อ ครับ คณะซอตี่น้องว่านั้นเปิ้นซอได้ตึงทำนองล่องน่าน ตึงเข้าปี่กาครับ

ครับผม ช่างซอแพร่ 80 เปอร์เซนต์เป็นช่างซอปี่ครับ และเกือบทุกคนจะซอล่องน่านได้หมดครับ ปัจจุบัน ช่างซอปี่หันไปซอล่องน่านก็เยอะครับ เพราะขาดแคลนช่างปี่

แสดงว่าแต่เดิมเมืองแป้นิยมซอเข้าปี่ แล้วซอน่านก็เข้ามาปายลูนน้อครับ

ครับ จากที่ผมศึกษา และทำรายงานไปเทอมที่แล้ว ได้ข้อสรุปว่า ซอล่องน่าน พึ่งเข้ามาได้ประมาณ50 ปี ผ่านสองช่องทางหลักคือ 1 ชาวแพร่ไปเรียนการขับซอแบบล่อง น่านที่น่าน เช่นกรณี แม่ครูลำดวน และช่องทางที่สอง คือ มีช่างซอจากน่าน มารับจ้างสอนซอ เขาเรียกว่า พ่อครูสมพร คนที่เรียนกับพ่อครูสมพร ก็มี พ่อหนานสงคราม

การเปลี่ยนผ่านกันทำให้มีทำนองซอพิเศษ คือ ทำนองที่มาจากซอปี่ แลต่ไปใช้ในการขับซอเข้าพิณ เช่น ทำนองตั้งดาด หรือตั้งเชียงใหม่ ทำนองละม้าย จะปุ เงี้ยว พม่า อื่อ เป็นต้นครับ

ตอนนี้มีแหมอย่างตี่ยังบ่ใคร่เผยแพร่ในวงวิชาก๋ารคือซอล่องน่านมีทำนอง(ระบำ)อะหยังพ่อง ละก็มีความเหมือนและความแตกต่างจากซอเข้าปี่จะใดพ่อง เพราะมันเข้าใจ๋ฮู้กั่นเฉพาะจ่างซอ แต่เพื่อการเผยแพร่สืบทอดความฮู้นั้นยังบ่มีใผไขออกมาเตื่อน้อครับ เกยมีอาจ๋ารย์ม.มหิดล เปิ้นทำวิจัยเรื่องซอในภาคเหนือแต่ก็อู้ถึงแต่ความแตกต่างของเครื่องดนตรี และทำนองเพลงเต้าอั้น แล้วเผยแพร่ในตี่สัมมนาว่าซอปี่ต่างกับซอล่องน่านโดยบ่อู้ถึงความเหมือนเลยครับ แต่ตี่อ้ายได้ฟังนั้นคิดว่าเหมือนกั๋นอยู่หลายอย่าง อาจจะเคลื่อนกั่นหั้นน้อยนี้น้อย แต่เค้ามันอันเดียวกั๋น น้องคิดว่าจะใดพ่องครับ

ผมกำลังทำเรื่องทำนองซอปี่ ที่ปรากฏในซอล่องน่านอยู่ครับ แต่เราไม่สามารถหาหลักฐานอ้างอิงได้ มีแต่ข้อสัณนิษฐาน เพราะผู้ที่จะให้สัมภาษณ์เราคืิอบรรดาช่างซอที่เกิดในยุคนั้น ไม่เหลือให้สัมภาษณ์ละครับ เท่าที่ผมศึกษา เรื่องซอล่องน่าน ในแพร่ ก็เป็นผมคนแรกทที่ศึกษาสำรวจ สัมภาษณ์ เพราะแม้แต่แพร่เองก็จะเข้าใจว่าซอของตนเองคือซอล่องน่าน ส่วนเรื่องทำนองนั้น มีข้อสัณนิษฐานดังนี้ครับ

แล้วทำนองเฉพาะของซอล่องน่านที่ไม่เหมือนซอปี่มีไหมครับ

ช่างซอแพร่ีทีเยอะมาก แต่ช่างปีไม่พอตอ่ความต้องการ และในยุคเดียวกันนั้น ซอล่องน่าน โด่งดังและได้รับความนิยมมากในแพร่ เพราะเป็นของใหม่ ช่างซอแพร่ จึงคิดทดแทนโดยใช้เคืร่องดนตรีแบบน่าน คือพิณ และสะล้อ แทนการใช้ปี่จุม แต่การเปลี่ยนไปซอล่องน่านทันทีนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะช่างซอแพร่ไม่คุ้นเคย จึงยังคงใช้ทำนองที่ซอปี่เดิม แต่ซอเข้ากับเครื่องดนตรีใหม่ คือซึงและสะล้อ แทนการซอเข้าปี่ ที่ขาดแคลน

ซอตั้งเชียงใหม่ เมืองน่าน เรียก ดาดแป้ ซอตั้งดาด ขึ้นดาด บ้าง แต่ซอไม่ครบวรรค ข้อนี้ฟันธงได้แน่นอนเลย ว่ารับไปจากซอปี่ เพราะเอาไปไม่ครบ แต่ในแพร่ บางคณะซอครบเหมือนปี่ทุกประการ ซอจะปุ จะเรียกกันว่าซอกล๋าง หรือหล๋ามกล๋าง ซอละม้าย จะเรียกกันว่า ซอเหลี้ยง

แต่ทำนองเพลงก็เป็นแบบเป่าปี่ใช่ไหมครับ

ทำนองไม่ต่างกันเลยครับ ซอปี่และน่าน ต่างกันที่เครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบการขับซอเท่านั้น แต่น่านจะมีทำนองหลักของเขาอยู่ เดิมแล้ว คือ ทำนองน่านช้อย หรือดาดน่าน1 และซอลับแลง ที่ซอปี่จะเรียกว่า น่านกล๋าย ซอปี่ในบทลงจะลงด้วย โอ้ละน้อ ละนอน้องแหละนาย

ดีจังครับที่น้องได้ศึกษาเก็บข้อมูลไว้

ทำนองดนตรี จะคล้ายๆปี่ บางที่ก็จะมีโน้ตดนตรีต่างกันออกไป การบรรเลงดนตรีประกอบการขับวอ ส่วนใหญ่ บรรเลงตามเสียงและการเดินซอช่างซออะครับ ช่างซอลัดขึ้นตรงไหน ดนตรีก็จะตาม ไม่มีอะไรที่ตายตัวครับ

ถ้าสังเกต ซอล่องน่านที่แพร่ ถ้าซอทำนองพิเศษ ดนตรีจะคล้ายดนตรีซอปี่ที่สุด และของน่านก็มีเอกลักษณ์ต่างออกไปนิดนึง แต่ฉันทลักษณ์ของบทซอ ยังคงเดิม ครับ

เรื่องนี้ต้องรีบศึกษา เพราะช่างซออาวุโสเหลือไม่มากแล้ว แต่ก็ยังคงยากที่จะหาข้อสรุป คงได้เพียงแค่ข้อสัณนิษฐาน ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดครับ

ครับ ไงก็ดีใจและขอเป็นกำลังใจให้น้องเก็บรวบรวมข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาสืบสานเผยแพร่ต่อไปครับ

ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างจริงจังกันต่อไป เพราะข้อมูลของผมคนเดียว อาจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ได้ ถ้ามีคนนำเหตุผลที่มีความเป็นจริงมากกว่า มาหักล้าง ข้อสัณนิษฐานของผมเหล่านี้ก็เป็นศูนย์

ขอบคุณครับผม

โครงการคนรุ่นใหม่ พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม

โครงการคนรุ่นใหม่ พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม

นราวดี หนองบัว


ที่มาของโครงการ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดเวทีคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น พลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ภายใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น ณ ห้องประชุมชั้น 1 พอช. โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน












นายคำเดื่อง ภาษี ประธานคณะทำงานโครงการคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่นตนเอง และได้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันงานของชุมชน และสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายคนรุ่นใหม่ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างการพัฒนา โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับสนับสนุนงบประมาณเป็นทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพ และรายได้ของครอบครัวคนรุ่นใหม่ เดือนละ 4,500 บาท


สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น รุ่นที่ 4 ได้คัดเลือกคนรุ่นใหม่จากทุกภาคเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน ทั้งนี้ โครงการคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่นได้ดำเนินการ ไปแล้ว 3 รุ่น มีผู้ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน ซึ่งมีจำนวน 83 คนที่ทำงานและดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง


ดังนั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ต้องดึงความดีของตนเองและของชุมชนออกมาเพื่อสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่มีใครสามารถทำคนเดียวได้ต้องร่วมทำทั้งสังคม เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติมาก่อน ทำให้เราสามารถจัดการภัยภิบัติได้เป็นอย่างดี เหตุเพราะความมีน้ำใจ


การทำงานต้องใช้หลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หลักการนี้ตรงกับหลักสากลคือ ต้องคิดดีเมื่อจะเริ่มทำ แล้ววิเคราะห์ผลเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้น การพัฒนาตนเองและพัฒนางานให้สำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การลงมือทำ คิดให้รอบครอบแล้วลงมือทำ โดยทำร่วมกับคนอื่น “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” แล้วจะเกิดการเรียนรู้มหาศาล แต่ไม่ทิ้งตำราหรือการเสาะแสวงหาความรู้ คือต้องใช้ความรู้ควบคู่กันด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการ “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” การเรียนรู้ที่แท้จริงคือ การกระทำ ตามหลักไตรสิกขา “ศีล สมาธิ ปัญญา” ต้องปฏิบัติ ร่วมทำ ร่วมติดตามผลและร่วมเรียนรู้ ทำเป็นวงจร โดยใช้เวลา ๑ ปีเป็นอย่างน้อย หากมีใจที่มุ่งมั่น แล้วก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้ และทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เป็น “วงจรบุญ”




ทั้งนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่นทั้ง ๑๐๐ คน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น ที่ สถาบันภูมิปัญญาไทย ตำบลหัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ ก่อนที่แยกย้ายไปทำงานพัฒนาที่บ้านเกิดของตนเอง




กำลังทำอะไรอยู่

ปัจจุบัน กำลังทำงานให้กับชุมชน อาทิเช่น
- งานสรุปกิจกรรมของสภาองค์กรชุมชนตำบลป่าแดง
- งานเยาวชนในตำบลป่าแดงและเป็นทีมหนุนเสริมของโครงการแก้ไขปัญหาเอดส์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อ PHA แพร่สนับสนุนโดย มูลนิธิพะเยาและกองทุนโลก
- งานกองเลขาของจังหวัดแพร่(สภาพัฒนาการเมือง สภาองค์กรชุมชน)



จะทำอะไรต่อไป

- ในอนาคตอยากทำความฝันของตัวเองที่ฝันไว้ให้สำเร็จและทำหน้าที่ในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไปและจะทำให้ดรที่สุดตามความสามารถที่เรามี และจะนำความรู้ที่ได้เรียนมานำมาใช้ประโยชน์กับงานที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ขับเคลื่อนการทำงานของเยาวชนให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น สามารถทำให้เยาวชนเข้าใจว่าการทำงานกับชุมชนไม่ได้ยากอย่างที่คิด

นางสาวนราวดี หนองบัว
เยาวชน ตำบลป่าแดง

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชลประทานบอก ไม่ต้องกังวลใจ ว่าอ่างแม่สายจะแตก



ความกังวลใจดังกล่าวนั้น ทำให้ชาวช่อแฮชวนกันกับชาวบ้านอื่น ๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบมารวมตัวกันเมื่อวันที่ 8 พย. 54 ที่ห้องเทศบาลช่อแฮ เริ่มประชุมประมาณเวลา 9.30 น. เจ้าหน้าที่ชลประทานขอความเห็นว่าจะมีเวลาถึงกี่โมง ในที่ประชุมบอกว่าเที่ยง มีบางเสียงบอกว่าขอฟังจนหายข้อสงสัย

หนึ่งสาขาของแม่น้ำยมนี้ แม่สายเป็นลำน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลรวมประมาณ 40 - 45 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คู่กับน้ำแม่ก๋อน ที่มีประมาณ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อปี น้ำทั้งสองสายนี้ไหลทำความชุ่มชื้นแก่ดิน เรือกสวนไร่นาของพื้นที่ในตำบลช่อแฮ ป่าแดง บ้านกวาง บ้านกาศ ร่องกาศ เวียงทอง สบสาย บ้านเหล่า ดอนมูล โดยเหมืองฝายเก่าแก่และคันคลองชลประทานผสมผสานเชื่อมโยงกัน

นอกจากนั้นน้ำยังถูกทดผ่านฝายอายุหลายร้อยปีให้ส่งน้ำขึ้นไปทางเหนือ โดยเหมืองหลวง เหมืองน้ำไหลย้อน จ่ายน้ำให้กับตำบลสวนเขื่อน บ้านถิ่น เหมืองหม้อ กาญจนา และ เข้าสู่คูเมืองโบราณเมืองแพร่ ก่อนจะไหลลงสมทบกับน้ำแม่แคม

อ่างแม่สายเกิดขึ้นด้วยความต้องการทางเกษตรกรรมเป็นหลัก

ชาวบ้านได้ส่งคำถามผ่านเทศบาลช่อแฮไปถึงชลประทาน อันเป็นจุดให้เกิดการประชุมครั้งนี้ 11 ข้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชลประทานได้ตอบ พอสรุปได้แต่ละคำถามดังต่อไปนี้



1. ถ้าเกิดเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำรั่วและดินถล่มจะเตรียมการป้องกันและการอพยพอย่างไร

เจ้าหน้าที่ชลประทานบอกว่า ถ้าน้ำทะลุออกมาได้คือความผิดพลาดทางเทคนิค น้ำต้องผ่านฟิลเตอร์หรือทรายกรอง ถ้าจะย้วยจนน้ำทะลุก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าที่จะเกิดความเสียหายก็นานพอที่จะพร่องน้ำ ระบายน้ำออกได้ รวมถึงเตือนภัยได้และอพยพทัน

แต่เขื่อนจะมีเครื่องมือตรวจสอบวัดพฤติกรรมของเขื่อน (x-ray) มีเจ้าหน้าที่ วิศวกรคอยเฝ้าดูระดับการซึม ว่าเกินที่คาดคิดหรือไม่ ซึ่งมีระบบจัดการน้ำซึมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว พ้นจากน้ำซึม หากมีการสังเกตได้ถึงสีของน้ำที่ขุ่น อัตราการไหลที่รุนแรงขึ้น ก็จะเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาเรื่องพร่องน้ำ หรือ ประกาศอพยพดังกล่าว



2. มีคลองส่งน้ำ ซ้าย-ขวา หรือไม่

ส่งน้ำลงท่อไปยังระบบจ่ายน้ำเดิม ของแม่สาย ที่ใช้การได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีความต้องการเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้
โดยต้องขอเป็นอีกโครงการ



3. สามารถต้้งคณะกรรมการตรวจสอบได้หรือไม่

ในแง่มุมของวิศวกรรมมีระบบตรวจสอบหลายชั้นอยู่แล้ว เช่น การตรวจคอนกรีตก็จะส่งไปที่ห้องปฏิบัติการที่กำแพงเพชรซึ่งแน่นอนกว่าที่เขตก่อสร้างหรือห้องปฏิบัติการของไซต์งาน



4. ถ้าชาวบ้านมีปัญหาเร่งด่วน จะถามที่ใคร

ในช่วงระหว่างก่อสร้างก็ถามได้ที่ไซต์งาน (คุณคำรณ) ถ้าแล้วเสร็จก็ถามที่ชลประทานจังหวัดแพร่ (คุณปราโมทย์)



5. การคำนวนรอยเลื่อนบริเวณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมีกี่ริกเตอร์

ริกเตอร์เป็นมาตราวัดความแรงของแผ่นดินไหว โดยปกติแล้วถ้าศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พม่าวัดได้ 5-6 ริกเตอร์ จะวัดได้ที่แพร่ประมาณ 1-2 ริกเตอร์ ซึ่งจะไม่เป็นผลต่อสิ่งปลูกสร้างใดๆ และอ่างแม่สายสร้างเผื่อแรงสั่นสะเทือนถึง 6-7 ริกเตอร์ คำว่ารอยเลื่อนมีพลัง ที่มีอยู่ในหลายหมู่บ้านแถบนี้ หมายถึงนักธรณีวิทยาพบหลักฐานว่าก้อนหินแผ่นหินใต้ดินมีการขยับตัวเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีมาแล้ว



6. การทดสอบน้ำยาบ่มคอนกรีต ถ้าไม่ผ่านการทดสอบจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

การบ่มที่ดีที่สุดคือการใช้น้ำ ถ้าได้ถึง 7 วันยิ่งดี ดีกว่าใช้น้ำยาใดๆ น้ำยาทำได้เพียงเคลือบผิวข้างนอก นำมาใช้เพราะสะดวก หากใช้ไม่ได้ก็ต้องหายี่ห้ออื่นมาทดสอบอีก ยี่ห้อที่จะใช้ต้องผ่นการทดสอบทดลองจนพอใจ ไม่ผ่านก็ไม่ใช้ ต้องเปลี่ยนจนผ่าน




7. งบประมาณในการก่อสร้าง และการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อไร

300 ล้านบาท ในสัญญา เริ่มการก่อสร้าง 2 ก.ย. 2552 ถึง 21 ตค. 2554 เมื่อมีการแก้ไขแบบจึงต่อสัญญาจนถึง 26 ม.ค. 2555 ขณะนี้สร้างได้ประมาณ 50%




8. สาเหตุที่การก่อสร้างล่าช้า เพราะอะไร

รออนุมัติการขอใช้พื้นที่ป่าจาก รมต.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบางส่วนของป่าเป็นพื้นที่่ 1A เป็นป่าต้นน้ำ จึงยังเข้าไปดำเนินการไม่ได้ และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ หากทำก็จะติดคุก เรื่องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว ส่งเมื่อ เมย. 54 ตรงนี้เป็นความล่าช้าเพราะเปลี่ยนรัฐบาล และ เรื่องน้ำท่วม

อ่างน้ำในแพร่จะติดพื้นที่ป่า เช่น อ่างข่วงบุก อ่างแม่แคม แต่อ่างแม่สายได้รับงบประมาณก่อนผ่านขึ้้นตอนนี้


สาเหตุความล่าช้าอีกประการหนึ่ง พบว่าชั้นหินใต้ดินนั้น ปริมาณมากกว่าที่สำรวจไว้ ปริมาณที่ต้องระเบิดขนออกเยอะกว่าที่สัญญามากกว่า 10 % จึงต้องแก้ไขสัญญาขยายกรอบวงเงิน



9. รอยรั่วของอ่างเก็บน้ำจะเกิดขึ้นไหม

รอยรั่วมี 3 อย่าง การรั่วผ่านชั้นฐานล่างได้ป้องกันโดยการอัดฉีดปูนซีเมนต์ลงไปเป็นกำแพงใต้ดินแล้ว การรั่วผ่านแกนดินซึ่งเป็นแกนเขื่อนได้บดอัดอย่างดีแล้ว และเป็นดินที่มีความหนาแน่นสูงดีมาก ซึ่งมีเครื่องมือเอกซสเรย์ได้ รวมถึงการรั่วผ่านท่อคอนกรีตรั่ว ก็ใช้เครื่องมือนี้ตรวจสอบ



10. มีเครื่องสัญญาณวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินหรือไม่

เครื่องวัดความสั่นสะเทือนของกรมชลประทานมีอยู่ที่ อุทยานแห่งชาติแม่ยม ม่อน... งาว กว๊านพะเยา และ บ้านหลวง น่าน ของกรมอุตุฯ มีที่เชียงใหม่ ของ กฟผ. มีทุกเขื่อนใหญ่ ของกรมอุทกศาสตร์ มีที่กองทัพเรือ

จึงไม่มีที่อ่างแม่สาย แต่จะมีเครื่องมือที่วัดพฤติกรรมของเขื่อน คือ วัดการเอียงตัว การย้วยการฉ่ำน้ำ การทรุดตัว ซึ่งทุกอย่างมีระดับที่เขื่อนรับได้ จนกว่าจะถึงระดับที่ต้องแจ้งเตือน

บอกชาวบ้านว่า นอนลับให้สบยไม่ต้องกังวล เขื่อนของกรมชลประทานไม่เคยพัง และอย่าลืมวัฒนธรรมของเรา การจัดพิธีเลี้ยงปู่ละหึ่งกับย่าแก้ว



11. ให้ประกาศแปลนก่อสร้างได้หรือไม่

ดูได้หลังจากจบคำถามแล้ว



นอกจากนั้นก็มีคำถามเพิ่มคือ


12. รับประกันการพังอย่างไร ตอบ ไม่พัง 100 % ทำเต็มที่แล้ว บริษัทรับเหมาถูกปฏิเสธไปหลายรายการแล้ว
13. ระบบเปิดปิดประตูน้ำ ที่ใช้ไฟฟ้า หากดับจะทำอย่างไร ตอบ ใช้แรงคนได้ แต่ภายหลังต้องมีเครนช่วย หรือ มีีระบบปั่นไฟฟ้าสำรอง
14. จากสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ทางคนชลประทานได้คำตอบไหมว่า เราจะสู้กับน้ำ หรือ อยู่กับน้ำ ตอบว่า กรมชลประทาน มีหน้าที่สนองตอบความต้องการของประชาชน ถ้าต้องการเขื่อนก็จะสร้างเขื่อนให้ ถ้าประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ก็อาจไม่ต้องใช้เขื่อน คนกับน้ำต้องอยู่ด้วยกัน ต้อง รัก - เคารพ - ศรัทธา น้ำ
15. ถ้าอ่างแตกเนื่องจากสาเหตุที่่ไม่คาดคิด ระดับน้ำทีจะท่วมหมู่บ้านจะสูงแค่ไหน ตอบ จะทำแบบจำลองออกมาให้ดู
16. ถ้าจะมีพายุระดับเท่านกเต็นเข้ามาช่วงที่ยังทำไม่เสร็จ จะเป็นอย่างไร ตอบ ดูระดับน้ำ ถ้าคาดว่าจะอันตราย ก็ต้องพร่องน้ำ โดยเปิดช่องให้ระบายออกมาได้
17. จะมีการเชื่อมโยงระบบน้ำกับอ่างอื่น ๆ หรือ ไม่ ตอบ มีโครงการตัวอย่างเรื่องอ่างพวงที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สามารถศึกษาดูได้
18. ถามว่ามีความรู้ใหม่ที่ได้จากการสร้างเขื่อนนี้ไหม? เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มี ก็เหมือนกับเขื่อนอื่น ๆ


ความคิดเห็นผู้สังเกตการณ์ (วุฒิไกร)

ควรสร้างมิติแห่งมิตรของการกระจายข้อมูลข่าวสาร เชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจ กิจกรรมที่เรียกว่า "ประชาคม" อาจเป็นตัวอย่างหนึ่ง และก็สามารถทำเสริมได้ ซึ่งอาจเป็นการประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งการรับฟังข้อมูล ข้อคำถามจากชุมชนที่เกี่ยวข้องให้งามครบถ้วนสมควร

ซึ่งทั้งท้องถิ่น และ หน่วยงานเองก็ยังทำได้ในครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันคิดอ่านถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่มาถึง เช่น แผนเยียวยา แผนอพยพ รวมถึงการดูแลเฝ้าระวัง

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หนานเรินกับแผนที่เที่ยวบ้านไม้ช่อแฮ


หนานเรินโชว์แผนที่ทำมือ ไม่ต้องพึ่งแมปคุณกู ชวนกันอนุรักษ์บ้านไม้เรือนเก่า เขตตำบลป่าแดง ช่อแฮ

กฐิน ณ วัดประตูป่า เพื่อกระบวนการอนุรักษ์


วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 ภาคีอนุรักษ์สถาปัตยกรรมร่วมกันทอดกฐิน ณ วัดประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นทั้งที่ตำบลประตูป่า และ จ.น่าน จ.แพร่ จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่