วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลา หนุนประเพณีสืบชาตาตานข้าวใหม่




ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวางจังหวัดแพร่ มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน มี 4 วัด ที่วัดน้ำเลานี้มีศรัทธา 6 หมู่บ้าน

ชาวบ้านเล่าว่า วัดนี้มีคนนิยมมาตานขันข้าว มาทำบุญ คนเต็มมาวิหารซึ่งมีอายุ 20 ปีแล้ว วิหารทรงสูงกว่ารูปแบบวิหารล้านนาทั่วไป มีบานประตูหน้าต่างแกะสลักสวยงาม ธรรมมาสน์ก็งาม
ประเพณีที่วัดนี้มีแปลกไปจากวัดอื่นในตำบลเดียวกัน ในวันเพ็ญเดือน 4 เหนือ การตานข้าวใหม่จะเพิ่มการสืบชาตา

ลุงเปี่ยง หนุ่มน้อยนุ่งกางเกงยีน (อายุุ 70 ปี !) ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลา วันนี้ทำหน้าที่พิธีกรด้วย เล่าให้ฟังว่าปีนี้ได้ข้าวสารถึง 204 ถัง เงิน 3 หมื่นกว่าบาท จาก 600 กว่าครอบครัว กรรมการวัด และ เจ้าอาวาสเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะขอเมตตาข้าวจากแต่ละรายเท่าไหร่ ซึ่งบางรายก็ถวายเพิ่มกว่าที่บอกขอ เริ่มจาก 10 บาท เป็น 100 เป็น 1000 เริ่มจาก 1 ลิตร จนถึง 2-3 ถัง

ปีนี้จัดใหญ่ หลังจากทำบุญไหว้พระวันศีลใหญ่แล้ว ก็เลี้ยงข้าวต้มญาติโยม สายๆ ก็ต่อด่วยการสืบชาตา จบด้วยเลี้ยงข้าวกลางวัน ตอนเย็นมีมหรสพ จัดกันเอง ประกวดร้องเพลง ของตัวแทนหมู่บ้านละ 1 คน อนกลุ่มแม่บ้าน และ เด็กศูนย์เด็กเล็ก (รายการนี้น่าจะก่อนเพื่อน) ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ร่วมอาหรกลางวันด้วย เห็นว่ามีหมู่บ้านหนึ่งมีเมนู ตำมะเฟือง น่าอร่อย

ใบไม้ที่นำเข้าร่วมพิธีนั้น ชาวบ้านบอกว่า 9 อย่าง แต่พอไล่ชื่อแล้วเกิน เช่น ดอกบัวฮา (นิยมเอามาเข้าพิธีตานโฮง ขึ้นธาตุ) ดอกโป๋งเป้ง หญ้าแพรก ใบแก้วดอกแก้ว ใบห้า ใบเดื่อป่อง ใบเงิน ใบทอง ใบค้ำ ใบหนุน ใบเต้า

พิธีสืบชาตานี้ แต่ละบ้านจะนำของมาเข้าร่วมพิธีด้วยเช่น
ไม้ค้ำสลี (สลี = ศรี = ต้นโพธิ์) เสร็จแล้วเอาไปค้ำยุ้งข้าว ด้วยความหมายของค้ำ หนุน
น้ำส้มป่อย เอาไปผะผาย พรมบนบ้านเรือนให้เป็นศิริมงคล เอาไปดำหัวคนไม่ได้มาวัดวันนี้
ทราย เอาไปหว่านบริเวนบ้าน ไล่เสนียดจัญไร
ข้าวเปลือก เอาไปเป็นข้าวเชื้อพันธุ์
ฝ้ายมงคล เอาไปล้อมบ้าน ผูกข้อมือคนที่ไม่ได้มาวัด ให้อยู่ดีมีสุข
เสื้อผ้า เอามาเข้าพิธี ให้ผู้สวมอยู่สุขสบาย
ข้าพเจ้าไม่ได้ถามว่าที่เอาส้มป่อยพันฝ้ายมงคลนั้นเพื่ออะไร และบ้านนี้ไม่มีประเพณีข้าวปุ้นแล้ว ซึ่งจัดวันปากปี หรือ 16 เมษายน

นั่งคุยเรื่องไม้ค้ำศรีไปค้ำหลองข้าว (ถุข้าว ยุ้งข้าว) คนที่ไม่มีไม้ คือไม่มียุ้งข้าวแล้ว คงจะเอาข้าวไว้ในบ้นเลย ซึ่งแต่ก่อน มีภาษิตว่า "ข้าวเป็นเจ้า" ห้ามเดินข้าม ต้องสร้างที่ไว้ต่างหาก

ผู้เฒ่ามาในงานเป็นผู้หญิงแทบทั้งสิ้น ไม่มีสักคนเดียวที่เกล้าผม หรือ มุ่นผม ยายคนหนึ่งบอกว่ามียายอายุ 92 คนเดียวที่ยังรวบเกล้าผม แต่มาวัดไม่ได้แล้ว

สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลา หนุนงบประมาณ จำนวนหนึ่งเพื่อสมทบกิจกรรมประเพณี ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น