วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

3 วัน ท่ามกลางหมู่มิตร



3 วัน ท่ามกลางหมู่มิตร

            “การเมือง”  ไม่ใช่แค่เรื่องหย่อนบัตรเลือกตั้ง   เป็นสำนึกที่คอยเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เนือง ๆ ว่า ผู้คนทั้งหลายที่ข้าพเจ้ารู้จักนั้น   กำลังอยู่ในวังวนของกับดักคำนี้หรือไม่   เพราะหลายครั้งที่พวกเราก็ได้แต่บ่นถึงสิ่งที่ควรแก้ไขในบ้านเมือง  โดยไม่ได้ตระหนักว่าเราก็ทำได้ช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
“ประชาสังคม”  เป็นพลเมืองผู้ใส่ใจในเรื่องราวของสังคม  เรื่องราวตั้งแต่รอบตนไปถึงการลงมือปฏิบัติการในระดับประเทศ  ต่างก็อยู่ในฐานะ “นักการเมือง”   โดยไม่ต้องอาศัยพิธีกรรมการเลือกตั้ง  ที่คึกคัก หลากหลาย  จนความหมายคำนี้กลายเป็นคำว่า “ธุรกิจการเมือง”  ที่เป็นแค่การใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองมาสร้างผลประโยชน์ให้กับตน  ให้กับพวกพ้องและบริวาร    จนมีอีกชื่อเรียกว่า “นักเลือกตั้ง”ถ้ายังวนเวียนอยู่ในวงการ
ในระหว่างอาหารเช้าวันสุดท้ายของเวที  พี่เพลิน ผู้หญิงเก่งแห่งแม่สอด   ได้คุยถึงพี่ชายคนหนึ่งผู้เคยสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ที่เอ่ยปากว่า “รู้ว่าถ้าทำงานได้โดยไม่ต้องมีตำแหน่งแบบนี้  ก็คงไม่ไปสมัครลงเลือกตั้งให้เสียเวลา”
ก็ไม่ว่ากัน   เพราะพวกเราชาวประชาสังคมก็ไม่รู้ตัวได้บ่อย ๆ  เผลอไปทำบทบาทหน้าที่ของนักเลือกตั้งก็แทบจะนับไม่ถ้วน    พอผิดหวังก็กลับมาให้เวทีแบบนี้เติมไฟให้เป็นครั้งคราว
3วันนี้   อาจารย์นำศัพท์ทางศาสนามาให้คนนอกวัดนอกโบสถ์ได้สัมผัสถึงความหมาย     เพื่อปรับใช้ต่อไปได้  ซึ่งเป็นสาระที่มีอยู่แล้วสิ่งที่ได้เคยไหว้เคยสาในวิถีของแต่ละคน  เช่นเดียวกับ  ให้ตระหนักถึงการนำความรู้ที่บันทึกไว้แล้วโดยวิธีต่าง ๆ มาประกอบกับความรู้ที่ไม่เคยถูกบันทึก ประสบการณ์จากการปฏิบัติ 
เวทีนี้ช่วยให้เราได้ทบทวนศักยภาพของตัวเองได้อย่างสนุกสนาน  ผ่านกระบวนการที่ออกแบบอย่างแยบยล  กระบวนการที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างกลมกลืนต่อสถานการณ์ ต่อระดับความสนใจของผู้ร่วมเวทีทั้งหมด  หรือ แม้แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่คนเพียงคนเดียวหยิบยกขึ้นมา
กระบวนการจะช่วยจัดระเบียบให้การพูดจาแลกเปลี่ยนความรู้มีประสิทธิภาพ  ในวงนั้นแค่ปากกาอันเดียวที่เพื่อนถืออยู่ก็สามารถเตือนให้เราหยุดคุย  เงียบฟัง  ฟังอย่างลึกซึ้ง ก่อนที่จะหยิบปากกาด้ามนั้นขึ้นมาเมื่อพร้อมจะถ่ายทอด  ด้วยถ้อยคำที่กลั่นกรองออกมา  ว่าเป็นคำที่มีความหมาย ควรค่าของการฟังของเพื่อนร่วมวง
การจำกัดเวลา  ทำให้รอบของการพูดคุยกระชับ   ซึ่งก็มีการกินเวลาบ้าง   ทุกครั้งอาจารย์ก็ให้ คนที่ตกรอบไม่ได้พูดในวง  ได้มีโอกาสถ่ายทอดต่อวงใหญ่  ซึ่งหลายคนเกิดแรงบันดาลใจและพรั่งพรูความคิดเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าฟัง   แต่ข้าพเจ้าก็อดเป็นห่วงไม่ได้สำหรับคนที่คอยฉวยโอกาสนี้อยู่  กลัวว่าผู้นั้นจะกลายเป็นนักพูดที่ไม่ได้คำนึงถึงวงเรียนรู้    ที่เน้นถึงเรื่องการควบคุมตัวเองเป็นเบื้องต้น    
ในโต๊ะของเราช่วงสุดท้ายของเวทีที่เรียกว่ากระบวนการเช็คเอาท์นั้น  มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาและข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อแย้ง  คือ ผู้ทำกระบวนการมีพลังอย่างสูงในการถ่ายทอดวิชา  ในการทบทวนทฤษฎีต่าง ๆ  ให้พวกเราได้หยุดคิด  วาดภาพไว้ให้สะกิดใจ   ถอยหลังมาตั้งหลักใหม่  คอยปรับกระบวนท่า (ในการเคลื่อนไหวเชิงประชาสังคมของตนเอง) ให้สอดคล้องกับพลังของตัว  ให้หยั่งถึงสถานการณ์  ท่านเตือนให้คิดโดยวาดภาพภูเขาน้ำแข็งที่ต้องเผชิญทั้งกระแสลมกระแสน้ำ  ซึ่งบางครั้งลมแรงซัดน้ำเป็นคลื่นสูง แต่ก็ไม่ใช่ตลอดไป
แบบฝึกหัดที่อาจารย์สาธิตกับหนุ่มอายุน้อยตัวโตชาวสุโขทัย  สอนให้ใช้กำลังที่จู่โจมเข้ามาหานั้นแหละเป็นแรงเสริมให้การป้องกันตัวเองทำได้ดีขึ้น  จนให้กลายเป็นเราคุมกำลังได้ด้วยซ้ำถ้าทำได้ดี
น่าจะเป็นการสาธิตที่คอยเตือนได้มาก   ให้ข้าพเจ้าระลึกถึงสถานการณ์ของตัวเอง   ว่าจะเบี่ยงกำลังและอาศัยให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
รวมถึงการเตรียมนักดนตรีเยาวชนไทยให้นิ่งมีจุดร่วมของอาจารย์ผู้ควบคุมวง   รวมถึงคำว่า “ตีกลองแบบหยดน้ำผึ้ง” ที่อาจารย์ดนตรีชาวอินเดียสอนศิษย์   ในวีดีโอคลิปที่มาประกอบการอบรมครั้งนี้
ขอบคุณทุกคนทุกสถานการณ์ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางหมู่มิตรใน 3 วันนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น