วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔


ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔

ความคิดแรกเริ่มในการทำงานอนุรักษ์เฮือนไม้สักในเมืองแพร่นั้น เพียงเพราะว่ากระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เริ่มจะเป็นที่นิยม อีกอย่างหนึ่งเสน่ห์ของเมืองแพร่ที่ทำให้ดูเป็นเอกลักษณ์คือเฮือนไม้สักที่มีอยู่อย่างมากมายในตัวเมืองแพร่มีตั้งแต่บ้านของเจ้านายในอดีต เฮือนห้องแถวร้านค้า เฮือนของชาวบ้านธรรมดา ที่ได้รับการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของ สล่าชาวเมืองแพร่

เพราะในอดีตไม้สักเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป หาได้ไม่ยาก เมื่อไม่มีเจ้านายปกครอง(พ.ศ.๒๔๔๕) ชาวเมืองแพร่จึงสามารถนำไม้สักมาปลูกเฮือนกัน จนเหลือให้เห็นกันอย่างทุกวันนี้

จากการพูดคุยกันกับข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ( คุณประสาท ประเทศรัตน์, คุณสุนันท์ธนา ชมภูมิ่ง แสนประเสิรฐ คุณวุฒิไกร ผาทอง และ คุณสหยศ วงศ์บุรี ) โดยมีอาจารย์สิริกร ไชยมา เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการฯ จึงนำมาสู่การก่อตั้งชมรมฯ และมีกิจกรรม “ผ่อบ้านแอ่วเมือง” จำนวน ๗ ครั้งแบบจำลองบ้านไม้อีกสามหลัง โดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองแพร่ ผ่านชุมชนพงษ์สุนันท์ ในปี ๒๕๕๐


หลังจากนั้นก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมทั้งหลาย มาจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของเฮือนไม้สักและลูกหลานเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่ แสดงอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ถึงกระนั้นก็ตามแม้จะพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยได้ลงไปสำรวจพูดคุย ให้กำลังใจโดยมีการมอบ”ธงไจย” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับเฮือนไม้ที่มีอายุห้าสิบปีขึ้นไปและมีเอกลักษณ์ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการรื้อถอนเฮือนไม้สักที่มีมูลค่าสูงทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นที่ถูกขายไปในราคาหลักแสนต้นๆ ได้ เพราะไม้สักเก่านั้นมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและเป็นที่ต้องการของตลาด


การทำงานได้ขยายขอบเขตมากขึ้นจากการที่จะอนุรักษ์เพียงตัวเฮือนไม้ เริ่มทำกิจกรรมเชิงเสวนาเพื่อให้ได้ใกล้ชิดและลงลึกกับชุมชนมากขึ้น โดยใช้ประเด็นประวัติศาสตร์และจิตสำนึกมาเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น กิจกรรมฉายหนัง”พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่งเป็นหนังไทยขาวดำที่ถ่ายทำเมื่อปี ๒๔๘๒ โดย นายปรีดี พนมยงค์(รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในยุคนั้น)นำกองถ่ายมาที่เมืองแพร่ มีนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์(อดีตสส.แพร่คนแรกและเสรีไทย)เป็นผู้ให้การช่วยเหลือในการถ่ายทำฉากรบที่บ้านป่าแดง โดยมีการนำช้าง ม้า และชาวเมืองแพร่ร่วมเข้าฉากอย่างมากมาย กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่ คุ้มวิชัยราชาบ้านเดิมของนายวงศ์ แสนสิริพันธุ์
ตัวแทนของชมรมฯได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานมากมายได้แก่ เทศบาลเมืองแพร่ สนง.วัฒนธรรมและสภาวัฒนธรรมแพร่ อบจ.แพร่ สมัชชาคนแพร่ กศน.แพร่(การแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนกับสหรัฐอเมริกา และการซ่อมบ้านมิชชั่นนารีอายุร้อยกว่าปี ในพื้นที่ของ กศน.แพร่) ชุมชนต่างๆในเขตเทศบาล นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ บางกอกฟอรั่ม จัดเสวนา “ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต”ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายจาก กรุงเทพฯ เชียงใหม่และน่าน มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมให้คำชี้แนะ (๒๕๕๒) และในปีเดียวกันทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาได้มอบทุนเพื่อทำหนังสือ “ผ่อบ้าน หันเมือง” ผ่านทาง ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ : สปาฟา

ร่วมกับการเคหะฯ สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาคชุมชนเมืองแพร่ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อสร้างแนวทางไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและการอยู่อาศัยแบบบูรณาการ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชุมชนที่ควรค่าแก่การฟื้นฟู ส่งเสริมเอกลักษณ์พื้นที่
การทำงานของชมรมฯ ได้ขยายขอบเขตการทำงานไปในเชิงให้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กับการทำงานเชิงอนุรักษ์มากขึ้นในปี ๒๕๕๓ โดยมีหน่วยงานทางสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาจึงได้เข้าร่วมโครงการเมืองแพร่ เมืองแห่งความสุข จัดกิจกรรม “แอ่วกาดกองเก่า” เพื่อเป็นพื้นที่แนวรุกเชิงวัฒนธรรม โดยนำเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่นๆ เข้ามาร่วม เช่น พอช. กลุ่มโฉนดชุมชน สถาบันปุ๋มผญา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่พบปะพูดคุยของประชาชนในละแวกตัวเมืองเก่า เป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของเยาวชนและเข้าร่วมจัดงานฤดูหนาวปลอดเหล้าเมื่อต้นปี ๒๕๕๔

และได้ร่วมกับโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนและสปาฟาจัดทำแผนอนุรักษ์อาคารเก่าของโรงพยาบาลเพื่อจัดทำเป็นอาคารนิทรรศการ



การทำงานของชมรมฯในแต่ละกิจกรรมคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมมุ่งหวังเพื่อสร้างความเข้าใจ ความเคารพต่อพื้นที่โบราณสถาน จึงได้จัดรื้อฟื้นประเพณีสุมมาเมฆ ประตูเมืองและดำหัวเจ้านายเมืองแพร่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคลกับชาวแพร่ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีโดยเริ่มในปี ๒๕๕๔ เป็นปีแรก หวังให้เป็นการจุดประกาย สร้างจิตสำนึกและรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวแพร่ที่ได้สร้างบ้านแปงเมือง และปกป้องให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขดังปัจจุบัน



แผนงานของขมรมฯ หวังให้มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมร่วมไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับบริบทและสังคมเมืองแพร่

ให้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมและเอื้อต่อการอนุรักษ์
เร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวเมืองแพร่เห็นคุณค่าในโบราณสถาน โบราณวัตถุซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมรดกของชาวแพร่ยังเป็นมรดกของชาติ
การจัดให้มีการวางแผนการติดป้ายโฆษณาในตัวเมืองเก่าเมืองแพร่อย่างเป็นระเบียบสวยงาม
มีการจัดการขนส่งสาธารณะและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางศิลปวัฒนธรรมน้อยที่สุด
การจำกัดการคมนาคมขนส่งและการก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้เข้ามารบกวนพื้นที่อนุรักษ์
สร้างจิตสำนึกให้เยาวชนให้เข้าใจรักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้ต่อไป
จัดทำสื่อเพื่อกระตุ้นและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมของเมืองแพร่ในรูปแบบต่างๆเช่น หนังสือ แผนที่ท่องเที่ยว เกม สื่ออินเตอร์เนต

1 ความคิดเห็น: