วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชลประทานบอก ไม่ต้องกังวลใจ ว่าอ่างแม่สายจะแตก



ความกังวลใจดังกล่าวนั้น ทำให้ชาวช่อแฮชวนกันกับชาวบ้านอื่น ๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบมารวมตัวกันเมื่อวันที่ 8 พย. 54 ที่ห้องเทศบาลช่อแฮ เริ่มประชุมประมาณเวลา 9.30 น. เจ้าหน้าที่ชลประทานขอความเห็นว่าจะมีเวลาถึงกี่โมง ในที่ประชุมบอกว่าเที่ยง มีบางเสียงบอกว่าขอฟังจนหายข้อสงสัย

หนึ่งสาขาของแม่น้ำยมนี้ แม่สายเป็นลำน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลรวมประมาณ 40 - 45 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คู่กับน้ำแม่ก๋อน ที่มีประมาณ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อปี น้ำทั้งสองสายนี้ไหลทำความชุ่มชื้นแก่ดิน เรือกสวนไร่นาของพื้นที่ในตำบลช่อแฮ ป่าแดง บ้านกวาง บ้านกาศ ร่องกาศ เวียงทอง สบสาย บ้านเหล่า ดอนมูล โดยเหมืองฝายเก่าแก่และคันคลองชลประทานผสมผสานเชื่อมโยงกัน

นอกจากนั้นน้ำยังถูกทดผ่านฝายอายุหลายร้อยปีให้ส่งน้ำขึ้นไปทางเหนือ โดยเหมืองหลวง เหมืองน้ำไหลย้อน จ่ายน้ำให้กับตำบลสวนเขื่อน บ้านถิ่น เหมืองหม้อ กาญจนา และ เข้าสู่คูเมืองโบราณเมืองแพร่ ก่อนจะไหลลงสมทบกับน้ำแม่แคม

อ่างแม่สายเกิดขึ้นด้วยความต้องการทางเกษตรกรรมเป็นหลัก

ชาวบ้านได้ส่งคำถามผ่านเทศบาลช่อแฮไปถึงชลประทาน อันเป็นจุดให้เกิดการประชุมครั้งนี้ 11 ข้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชลประทานได้ตอบ พอสรุปได้แต่ละคำถามดังต่อไปนี้



1. ถ้าเกิดเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำรั่วและดินถล่มจะเตรียมการป้องกันและการอพยพอย่างไร

เจ้าหน้าที่ชลประทานบอกว่า ถ้าน้ำทะลุออกมาได้คือความผิดพลาดทางเทคนิค น้ำต้องผ่านฟิลเตอร์หรือทรายกรอง ถ้าจะย้วยจนน้ำทะลุก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าที่จะเกิดความเสียหายก็นานพอที่จะพร่องน้ำ ระบายน้ำออกได้ รวมถึงเตือนภัยได้และอพยพทัน

แต่เขื่อนจะมีเครื่องมือตรวจสอบวัดพฤติกรรมของเขื่อน (x-ray) มีเจ้าหน้าที่ วิศวกรคอยเฝ้าดูระดับการซึม ว่าเกินที่คาดคิดหรือไม่ ซึ่งมีระบบจัดการน้ำซึมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว พ้นจากน้ำซึม หากมีการสังเกตได้ถึงสีของน้ำที่ขุ่น อัตราการไหลที่รุนแรงขึ้น ก็จะเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาเรื่องพร่องน้ำ หรือ ประกาศอพยพดังกล่าว



2. มีคลองส่งน้ำ ซ้าย-ขวา หรือไม่

ส่งน้ำลงท่อไปยังระบบจ่ายน้ำเดิม ของแม่สาย ที่ใช้การได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีความต้องการเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้
โดยต้องขอเป็นอีกโครงการ



3. สามารถต้้งคณะกรรมการตรวจสอบได้หรือไม่

ในแง่มุมของวิศวกรรมมีระบบตรวจสอบหลายชั้นอยู่แล้ว เช่น การตรวจคอนกรีตก็จะส่งไปที่ห้องปฏิบัติการที่กำแพงเพชรซึ่งแน่นอนกว่าที่เขตก่อสร้างหรือห้องปฏิบัติการของไซต์งาน



4. ถ้าชาวบ้านมีปัญหาเร่งด่วน จะถามที่ใคร

ในช่วงระหว่างก่อสร้างก็ถามได้ที่ไซต์งาน (คุณคำรณ) ถ้าแล้วเสร็จก็ถามที่ชลประทานจังหวัดแพร่ (คุณปราโมทย์)



5. การคำนวนรอยเลื่อนบริเวณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมีกี่ริกเตอร์

ริกเตอร์เป็นมาตราวัดความแรงของแผ่นดินไหว โดยปกติแล้วถ้าศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พม่าวัดได้ 5-6 ริกเตอร์ จะวัดได้ที่แพร่ประมาณ 1-2 ริกเตอร์ ซึ่งจะไม่เป็นผลต่อสิ่งปลูกสร้างใดๆ และอ่างแม่สายสร้างเผื่อแรงสั่นสะเทือนถึง 6-7 ริกเตอร์ คำว่ารอยเลื่อนมีพลัง ที่มีอยู่ในหลายหมู่บ้านแถบนี้ หมายถึงนักธรณีวิทยาพบหลักฐานว่าก้อนหินแผ่นหินใต้ดินมีการขยับตัวเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีมาแล้ว



6. การทดสอบน้ำยาบ่มคอนกรีต ถ้าไม่ผ่านการทดสอบจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

การบ่มที่ดีที่สุดคือการใช้น้ำ ถ้าได้ถึง 7 วันยิ่งดี ดีกว่าใช้น้ำยาใดๆ น้ำยาทำได้เพียงเคลือบผิวข้างนอก นำมาใช้เพราะสะดวก หากใช้ไม่ได้ก็ต้องหายี่ห้ออื่นมาทดสอบอีก ยี่ห้อที่จะใช้ต้องผ่นการทดสอบทดลองจนพอใจ ไม่ผ่านก็ไม่ใช้ ต้องเปลี่ยนจนผ่าน




7. งบประมาณในการก่อสร้าง และการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อไร

300 ล้านบาท ในสัญญา เริ่มการก่อสร้าง 2 ก.ย. 2552 ถึง 21 ตค. 2554 เมื่อมีการแก้ไขแบบจึงต่อสัญญาจนถึง 26 ม.ค. 2555 ขณะนี้สร้างได้ประมาณ 50%




8. สาเหตุที่การก่อสร้างล่าช้า เพราะอะไร

รออนุมัติการขอใช้พื้นที่ป่าจาก รมต.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบางส่วนของป่าเป็นพื้นที่่ 1A เป็นป่าต้นน้ำ จึงยังเข้าไปดำเนินการไม่ได้ และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ หากทำก็จะติดคุก เรื่องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว ส่งเมื่อ เมย. 54 ตรงนี้เป็นความล่าช้าเพราะเปลี่ยนรัฐบาล และ เรื่องน้ำท่วม

อ่างน้ำในแพร่จะติดพื้นที่ป่า เช่น อ่างข่วงบุก อ่างแม่แคม แต่อ่างแม่สายได้รับงบประมาณก่อนผ่านขึ้้นตอนนี้


สาเหตุความล่าช้าอีกประการหนึ่ง พบว่าชั้นหินใต้ดินนั้น ปริมาณมากกว่าที่สำรวจไว้ ปริมาณที่ต้องระเบิดขนออกเยอะกว่าที่สัญญามากกว่า 10 % จึงต้องแก้ไขสัญญาขยายกรอบวงเงิน



9. รอยรั่วของอ่างเก็บน้ำจะเกิดขึ้นไหม

รอยรั่วมี 3 อย่าง การรั่วผ่านชั้นฐานล่างได้ป้องกันโดยการอัดฉีดปูนซีเมนต์ลงไปเป็นกำแพงใต้ดินแล้ว การรั่วผ่านแกนดินซึ่งเป็นแกนเขื่อนได้บดอัดอย่างดีแล้ว และเป็นดินที่มีความหนาแน่นสูงดีมาก ซึ่งมีเครื่องมือเอกซสเรย์ได้ รวมถึงการรั่วผ่านท่อคอนกรีตรั่ว ก็ใช้เครื่องมือนี้ตรวจสอบ



10. มีเครื่องสัญญาณวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินหรือไม่

เครื่องวัดความสั่นสะเทือนของกรมชลประทานมีอยู่ที่ อุทยานแห่งชาติแม่ยม ม่อน... งาว กว๊านพะเยา และ บ้านหลวง น่าน ของกรมอุตุฯ มีที่เชียงใหม่ ของ กฟผ. มีทุกเขื่อนใหญ่ ของกรมอุทกศาสตร์ มีที่กองทัพเรือ

จึงไม่มีที่อ่างแม่สาย แต่จะมีเครื่องมือที่วัดพฤติกรรมของเขื่อน คือ วัดการเอียงตัว การย้วยการฉ่ำน้ำ การทรุดตัว ซึ่งทุกอย่างมีระดับที่เขื่อนรับได้ จนกว่าจะถึงระดับที่ต้องแจ้งเตือน

บอกชาวบ้านว่า นอนลับให้สบยไม่ต้องกังวล เขื่อนของกรมชลประทานไม่เคยพัง และอย่าลืมวัฒนธรรมของเรา การจัดพิธีเลี้ยงปู่ละหึ่งกับย่าแก้ว



11. ให้ประกาศแปลนก่อสร้างได้หรือไม่

ดูได้หลังจากจบคำถามแล้ว



นอกจากนั้นก็มีคำถามเพิ่มคือ


12. รับประกันการพังอย่างไร ตอบ ไม่พัง 100 % ทำเต็มที่แล้ว บริษัทรับเหมาถูกปฏิเสธไปหลายรายการแล้ว
13. ระบบเปิดปิดประตูน้ำ ที่ใช้ไฟฟ้า หากดับจะทำอย่างไร ตอบ ใช้แรงคนได้ แต่ภายหลังต้องมีเครนช่วย หรือ มีีระบบปั่นไฟฟ้าสำรอง
14. จากสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ทางคนชลประทานได้คำตอบไหมว่า เราจะสู้กับน้ำ หรือ อยู่กับน้ำ ตอบว่า กรมชลประทาน มีหน้าที่สนองตอบความต้องการของประชาชน ถ้าต้องการเขื่อนก็จะสร้างเขื่อนให้ ถ้าประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ก็อาจไม่ต้องใช้เขื่อน คนกับน้ำต้องอยู่ด้วยกัน ต้อง รัก - เคารพ - ศรัทธา น้ำ
15. ถ้าอ่างแตกเนื่องจากสาเหตุที่่ไม่คาดคิด ระดับน้ำทีจะท่วมหมู่บ้านจะสูงแค่ไหน ตอบ จะทำแบบจำลองออกมาให้ดู
16. ถ้าจะมีพายุระดับเท่านกเต็นเข้ามาช่วงที่ยังทำไม่เสร็จ จะเป็นอย่างไร ตอบ ดูระดับน้ำ ถ้าคาดว่าจะอันตราย ก็ต้องพร่องน้ำ โดยเปิดช่องให้ระบายออกมาได้
17. จะมีการเชื่อมโยงระบบน้ำกับอ่างอื่น ๆ หรือ ไม่ ตอบ มีโครงการตัวอย่างเรื่องอ่างพวงที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สามารถศึกษาดูได้
18. ถามว่ามีความรู้ใหม่ที่ได้จากการสร้างเขื่อนนี้ไหม? เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มี ก็เหมือนกับเขื่อนอื่น ๆ


ความคิดเห็นผู้สังเกตการณ์ (วุฒิไกร)

ควรสร้างมิติแห่งมิตรของการกระจายข้อมูลข่าวสาร เชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจ กิจกรรมที่เรียกว่า "ประชาคม" อาจเป็นตัวอย่างหนึ่ง และก็สามารถทำเสริมได้ ซึ่งอาจเป็นการประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งการรับฟังข้อมูล ข้อคำถามจากชุมชนที่เกี่ยวข้องให้งามครบถ้วนสมควร

ซึ่งทั้งท้องถิ่น และ หน่วยงานเองก็ยังทำได้ในครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันคิดอ่านถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่มาถึง เช่น แผนเยียวยา แผนอพยพ รวมถึงการดูแลเฝ้าระวัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น