วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฝายยักษ์(ปู่ละหึ่ง)


สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเดือนที่ผ่านมาครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง น้ำท่วม และต่างๆนานาสารพัด สำหรับเรื่องที่จะจับประเด็นกันคงไม่พ้นเรื่องน้ำครับซึ่งกำลังดุเดือดกันมากเลยช่วงนี้ เมืองแพร่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครับ จึงได้มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อประชาชนในพื้นที่และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีโครงการ "ชาวแพร่ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว สร้างฝายถวายพ่อหลวง ๘,๔๐๐ ฝาย" เราได้ติดตามโครงการไปที่บ้านนาคูหา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว



พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รูปแบบและลักษณะฝายนั้นได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ ”

“.......สำหรับต้นน้ำไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตามสำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก......” การสร้างฝายเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูป่า โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นฝาย จึงหมายถึง สิ่งที่ก่อสร้างหรือกั้นขวางทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง ในกรณีของจังหวัดแพร่ที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 8,400 ฝาย ทั่วจังหวัดแพร่ ตามโครงการ ชาวแพร่ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อถวายพ่อหลวง ได้เกิดคำถามขึ้นจากชาวตำบลสวนเขื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ ว่าแท้จริงแล้ว ฝายจะอำนวยประโยชน์ให้กับชาวบ้านจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลที่ได้ในขณะนี้ทำให้หลายๆฝายเริ่มสงสัยถึงประโยชน์ที่แท้จริง

บริเวณด้านหน้าเขื่อน ที่มีการสร้างอย่างใหญ่โต ทำให้คนในชุมชนและผู้ที่มาช่วยงานเกิดความสงสัย เพราะตามความเข้าใจของคนทั่วไปการสร้างฝาย หมายถึงการทำสิ่งที่ขวางกั้นทางน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่โต และเหมาะสมกับสภาพของบริเวณที่ต้องงการสร้าง หากพิจารณาถึงขนาดของลำธารที่อยู่ด้านล่างกับภาพของฝายที่สร้างนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างฝายว่า การสร้างฝายโดยหลักๆ มี 3 ประเภท คือ ฝายแบบผสมผสาน ฝายกึ่งถาวร และฝายแบบถาวร ซึ่งฝายแบบผสมผสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดักตะกอนและเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ไหลมากับน้ำ และช่วยลดความเร็วหรือชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานนี้ ลำห้วยควรมีความกว้างประมาณ 3 – 5 เมตร ลึกประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ส่วนฝายแบบกึ่งถาวร เป็นฝายชนิดหินก่อคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นฝายที่มีความมั่นคงแข็งแรงพอสมควร ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างบริเวณ Second Order Stream หรือ Third Order Stream ของลำห้วย และสุดท้ายฝายแบบถาวร เป็นฝายชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความมั่นคงแข็งแรงซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในตอนปลายของลำห้วย
จากภาพที่เห็นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วฝายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้เป็นฝายแบบไหนกันแน่ เพราะจากโครงสร้างที่เห็น ไม่ได้มีการใช้คอนกรีตเสริมใยเหล็ก ใช้โครงสร้างเป็นไม้ไผ่แล้วเทคอนกรีตทับ ส่วนด้านข้างของลำห้วยก็ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นแนวขึ้นบันไดแล้วก็เทปูน

สิ่งที่คนในชุมชนเริ่มหวาดกลัว คือจะมีความแข็งแรงหรือไม่ ในอนาคตจะเกิดการถล่มของดินบริเวณนั้นหรือเปล่า เพราะหากดูตามโครงสร้างของไม้ไผ่แล้ว ไม้ไผ่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรงในระดับที่ไม่มาก เกิดการผุพังได้ง่าย หากในอนาคตไม้ไผ่บริเวณนี้เกิดการผุพังแล้วคอนกรีตที่อยู่ในบริเวณเดียวกันก็อาจจะผุพังตามด้วยได้
ผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จะกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด คำถามเหล่านี้ จึงเป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่เกิดจากการสงสัยของชาวบ้าน และกำลังรอคอยคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



บทความข่าวเกี่ยวข้องเพิ่มเติมhttp://www.thainewsagency.com/region-news/11/09/2011/37597/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น