วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เพลงเมืองแป้บ้านเฮา


บทความนี้เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ไม่เป็น กลาง และเต็มไปด้วยความชื่นชมส่วนตัว *** ตั้งแต่ได้รู้จักกับน้อง ๆ วงกาสะลอง ที่มาร่วมแสดงในงานแอ่วกาดกองเก่า ที่ถนนคำลือ เมื่อปลายปีที่แล้วสิ่งหนึ่งที่ประทับใจต่อวงดนตรีนี้คือการที่ทุกคนมีน้ำใจ และอยากเห็นสิ่งดีดีเกิดขึ้นในบ้านเกิดอันเป็นที่รัก น้องๆเล่าให้ฟังว่าได้เห็นสิ่งดีจากเชียงใหม่ที่มีวงดนตรีไม้เมือง เล่นในกาดถนนงัวลาย พอมาเห็นว่าที่เมืองแพร่อยากจะจัดตลาดนัดพื้นเมือง ทีมวงกาสะลองไม่รอช้า ไม่ต้องไปเชิญ แค่เห็นใบปลิวก็แทบจะรีบปลิวมาร่วมและยังใจดีเอาผลงานมาแจกฟรีๆให้ พ่อ แม่ พี่น้องในกาดกองเก่าได้ติดมือกลับบ้านไปด้วย แค่นี้ก็น่าปลื้มแล้ว และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมก็ได้ฟังผลงานเต็มอัลบั้มของกาสะลอง ชื่อชุดว่า “เมืองแป้ บ้านเฮา” แนวดนตรีเป็นโฟล์คป็อปคำเมืองผสมสะล้อ ซอ ซึง และดนตรีพื้นเมืองอีกหลายชิ้นถือเป็นนวัตกรรมทางดนตรีพื้นเมืองที่น่าสนใจ ผมจะลองเล่าเนื้อหาให้อ่านกันนะครับ



เริ่มจากเพลงแรก เป็นเพลง เมืองแป้บ้านเฮา ดนตรีฟังสบายๆรื่นหู พร้อมด้วยเสียงสะล้อหยอกล้อ คลอไปตลอดเพลงไปกับเสียงร้องของน้องวิว จุฑาทิพท์ ฝั้นแบน ที่ถือว่าเป็นจุดขายหลักด้วยน้ำเสียงที่ออกแนวลูกทุ่งนิดนิด เนื้อเพลงเป็นเหมือนหนังสือหน้าแรกที่แนะนำสถานที่ ลักษณะทางกายภาพคร่าวๆของเมืองแพร่ มีรายชื่ออำเภอต่างๆทั้งแปดถ้าให้เด็กๆหัดร้องคงจะดีไม่น้อยจะได้จำได้ว่า เมืองแพร่มีอำเภออะไรบ้าง เพลงนี้น่าจะฟังติดหูไม่ยาก คะแนน8/10

เพลงที่สองเป็นบัลลาด เล่าเรื่อง พระลอและพระเพื่อนพระแพง วรรณกรรมอมตะชิ้นหนึ่งของชาติ ยังคงเป็นเสียงร้องของน้องวิว เสียงสะล้อยังคงร่วมสร้างไปพร้อมๆกับเสียงซึงและกลองจังหวะเนิบช้าคล้ายๆ กลองอืด ชวนสลดใจไปกับโศกนาฏกรรมที่ทั้งสามได้พบ เนื้อร้องยังไม่ได้เล่าเรื่องราวต่างๆอย่างที่ควรจะเป็น เพียงเป็นเรื่องราวสรุป โดยอาจจะทำให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินอาจจะงง หรือต้องตามไปอ่านวรรณกรรมเป็นการบ้านมาก่อน แต่ภาคดนตรีละเมียดละไมสมเป็นเพลงรักมาก เอาไป 7/10 หักคะแนนตรงเนื้อร้องนะครับ

(เด็ก)หล่ายดอย เนื้อหาเล่าเรื่องชีวิตเด็กที่ต้องมาเรียนต่างบ้านต่างเมือง ประมาณข้ามอำเภอมาอยู่ไกล พ่อแม่ ด้วยความตั้งใจจะร่ำเรียนให้สำเร็จ ด้วยจังหวะเพลงที่ช้า อาจจะฟังแล้วให้เหงา เศร้าและคิดถึงบ้านด้วย จุดประสงค์และเนื้อหาทำนองเป็นไปทางเดียวกัน แต่ด้วยว่าทั้งอัลบั้มมีเพลงจังหวะคล้ายๆกัน คนที่ไม่ชอบเพลงฟังช้าๆ อาจจะอึดอัด เพลงนี้ได้ใจผมไปเต็มๆในแง่ที่ทำออกมาตรงจุดแต่ตอดตรงชื่อเพลงที่ขึ้นต้น ว่า”เด็ก” เลยขอเอาวงเล็บมาใส่ให้ เอาแค่หล่ายดอยก็พอ ให้คนฟังไปคิดเองว่าทำไมต้องหล่ายดอย 8/10

ลุ่มน้ำยม เล่าเรื่องที่มาของน้ำยมแม่น้ำสายใหญ่สายหลักที่ไหลผ่านแพร่ แฝงด้วยแนวคิดอนุรักษ์เข้าไปด้วย ว่าคนเราควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติในช่วงที่แต่งเพลงนี้น่าจะเป็นช่วงที่น้ำ เอ่อท่วมเมืองแพร่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม๒๕๕๔

สวัสดีเวียงโกศัย เป็นเพลงเอก เพลงแรกที่ออกมาก่อนเพื่อนและยังได้รับเลือกให้เป็นเพลงต้อนรับนักท่อง เที่ยวในงานเปิดตัวเชิญชวนในงานของททท.สำนักงานแพร่ บางคนอาจจะเคยได้ยินมาก่อนนี้แต่เวอร์ชั่นนี้สมบูรณ์กว่าแผ่นแจกที่โปรโมทใน แอ่วกาดกองเก่า ครบเครื่องกว่า เนื้อหายังไม่ค่อยลงตัวนักแต่ทำนองรื่นหู บวกกับเสียงของน้องวิวที่ทำให้คนจะชอบและรักเพลงนี้ไม่ต่างจากเพลง “เมืองแพร่บ้านเฮา” 8/10

เด็กศิลป์ เพลงนี้มาแบบเพลงของ ฌามาเลยเนื้อหาเป็นเรื่องราวของเด็กอาชีวะสายศิลป์ตรงๆเลย ทำนองเร็วขึ้นกว่าเพลงอื่นๆฟังสนุก กว่าทุกเพลงเอาไว้เรียกแขกได้ดี ร้องโดยน้องนิว วิฬารีย์ ชอบงาน นักร้องสาวหล่อของวงกาสะลองที่เนื้อเสียงคล้ายๆกันแต่พลังและลำดับการไต่ เสียงจะด้อยกว่าน้องนิวไปนิดนึง 7/10

ลูกแม่ญิง เนื้อหาต้องการสอนหรือบอกให้เด็กหญิงในยุคนี้ ไว้นวลสงวนตัว รักศักดิ์ศรี รักในเกียรติของตัว โดยเนื้อหาเพลงอาจจะสวนทางกับเด็กๆรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ จนดูเป็นเรื่องล้าสมัยเอาไปเลย 9/10

เหนือเมฆ เพลงที่เล่าเรื่องกำแพงเมืองแพร่ และความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิดยังคงมีสะล้อเข้ามาแอบขโมยความเด่นในบาง ช่วง พูดตามตรงว่าการเรียงเรียงดนตรีเกือบทั้งหมดของกาสะลองจะให้ความสำคัญกับ ดนตรีพื้นเมืองมากกว่าดนตรีสากลที่เดินปูพื้นเป็นแบ็คกราวด์ให้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของวงเหมือนที่เขียนไว้ในปกซีดีที่ต้องการนำดนตรีพื้น บ้านมาให้คนรุ่น ไอโฟนได้ฟัง 8/10

ซิ้งม้อง มองเซิง เพลงจังหวะพื้นเมืองผสานกับ ลีลาสะล้อที่โดดเด่น (อีกแล้ว) เนื้อหาเล่าถึงการรักษาประเพณี สิลปะวัฒนธรรมของคนเมืองให้อยู่สืบไป ธรรมดาเรียบง่ายแต่ได้ใจ 8/10

กาสะลอง เป็นชื่อดอกไม้ หรือชื่อของวงดนตรี เพลงนี้สื่อความหมายได้ดีทั้งการตั้งชื่อวงดนตรีที่บอกตัวตนของนักร้องนัก ดนตรีได้ชัดเจน มีความตั้งใจมนการทำงานสูง เนื้อเพลงทั้งหมด เขียนโดย ปิยศักดิ์ ปิ่นทอง ส่วนภาคดนตรีก็ช่วยกันทำ ช่วยกันเรียบเรียง โดยมีคุณเจริญ ไชยมงคลเป็นผู้เรียบเรียงหลัก

เพลงพิเศษ เป็นเพลงเล่าเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านมุมมองธรรมดาๆที่หลายคนคุ้นเคย กลายเป็นความเคยชินที่ต้องล้อมวงมาดูโทรทัศน์ในช่วงสองทุ่ม หรือยี่สิบนาฬิกาของทุกวัน ซึ่งเราหลายคนคงได้เห็น ได้สัมผัสกันตลอดมาที่พระองค์ทรงครองราชย์

ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สง่างามและชัดเจนของ ชาวกาสะลองที่ประกอบด้วย จุฑาทิพย์ ฟั่นแบน (ร้องนำ) วิฬารีย์ ชอบงาน (ร้องนำ) ไตรภพ คุ้มงาม (สะล้อ) เจริญ ไชยมงคล (กีต้าร์) และปิยศักดิ์ ปิ่นทอง(กีต้าร์ ซึง ขลุ่ย ฮาโมนิก้า) ทั้งหมดจัดทำในเมืองแพร่ บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงบ้านเพลงเก่า หากท่านเป็นคนเมืองแพร่ และรักเมืองแพร่ ขอแรงใจสนับสนุนผลงานและความตั้งใจเพลงฟังเพราะๆทั้งแผ่นซึ่งยุคนี้จะหาได้ ยากว่าจะมีเพลงชุดไหนทำออกมา อีกอย่างไม่อยากให้ก็อปปี้มาแจกกันนะครับเห็นใจคนทำงาน และความตั้งใจที่อยากให้บ้านเมืองเรามีของดีดีอย่างนี้ออกมาอีกเป็นกำลังใจ ให้ด้วย หากสนใจติดต่อโดยตรงที่ คุณปิยศักดิ์ ปิ่นทอง ๐๘๒ ๐๓๕ ๗๑๖๒ หรือที่ร้านกาสะลอง วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ก็ได้ หรือเข้าไปใน www.youtube.com พิมพ์ในช่องค้นหาว่า เมืองแป้บ้านเฮา ก็จะได้ฟังตัวอย่างครับ แต่ถ้าอยากฟังสดๆ แวะมาแอ่วกาดกองเก่า ทุกแลงวันเสาร์ตั้งแต่บ่ายสามโมงถึงสองทุ่ม ถนนคำลือสี่แยกพระนอนเหนือ(บ้านวงศ์บัรี)ถึงประตูมาน

*** ส่วนตัวผมฟังหลายรอบแล้วยืนยันว่า หนึ่งร้อยยี่สิบบาทคุ้มค่าจริงๆกับเพลงชุดนี้***

ชินวร ชมพูพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น